(เพิ่มเติม) "เน็ตเบย์"เคาะราคา IPO ที่ราคาหุ้นละ 4 บ. เปิดขาย 8-10 มิ.ย. คาดเข้าเทรด mai 17 มิ.ย. 59

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 6, 2016 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ บมจ.เน็ตเบย์ (NETBAY) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาขายหุ้น IPO ในราคาหุ้นละ 4.00 บาท โดยกำหนดเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 8-10 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ วันที่ 17 มิ.ย.59

ทั้งนี้ บมจ.เน็ตเบย์ ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 40 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยปัจจุบัน บมจ.เน็ตเบย์ มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 160 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้จากระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรองรับการขยายธุรกิจ

ในวันนี้ NETBAY ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้งบล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) พร้อมทั้งแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 2 ราย ประกอบด้วย บล. ทิสโก้ จำกัด และบล. อาร์เอชบี (ประเทศไทย)

บมจ.เน็ตเบย์ เป็นผู้นำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์และบริการด้าน e-Logistics Trading และ e-Business Services ครบวงจร ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Economy) ของประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง เกตเวย์ให้บริการรับ-ส่งและเชื่อมโยงข้อมูลการค้าผ่านระบบออนไลน์พร้อมกัน ณ จุดเดียว ระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ (B2G) ภาคธุรกิจและภาคธุรกิจ (B2B) และภาคธุรกิจกับภาคประชาชน (B2C) ด้วยการนำเทคโนโลยี ไพรเวท คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Private Cloud Computing) มาให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NETBAY กล่าวว่า บริษัทฯ มีความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม ICT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์และเน็ตเวิร์ค ให้แก่ลูกค้าภาครัฐหรือเอกชนเป็นรายโครงการ (Software Integrators) หรือเป็นผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตและพัฒนาซอฟท์แวร์ (Software House) ขณะที่ บมจ.เน็ตเบย์ นับเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่ให้บริการในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) หรือซอฟท์แวร์ที่ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Better Faster Cheaper โดยลูกค้าจะไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุนซื้อซอฟท์แวร์ รวมถึงไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์และค่าบำรุงรักษารายปี ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เพื่อทดแทนการใช้เอกสาร รวมถึงช่วยควบคุมต้นทุนเนื่องจากจะคิดค่าใช้บริการตามปริมาณการใช้งานจริง (Per transaction fee) หรือคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน (Monthly fee) ส่งผลให้กระแสรายได้ของบริษัทฯ มีความมั่นคงและสม่ำเสมอ

โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีบริการแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มบริการ e-Logistic Trading เป็นการให้บริการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) เกี่ยวกับสินค้าและการขนส่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น บริการรับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมเอกสารการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการรับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมพิธีการทางศุลกากร 2.กลุ่มบริการ e-Business Services ได้แก่ การรายงานข้อมูลธุรกรรมลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน รวมถึงการให้บริการข้อมูลในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และ 3.กลุ่ม Projects และอื่นๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบงานสารสนเทศภายในให้แก่หน่วยงานต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิตอล (Digital Business Transformation)

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนขยายการให้บริการธุรกรรมรับ-ส่งและเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ไปยังฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ e-DLT (Department of Land Transport) เพื่อให้บริการรับ-ส่งและเชื่อมโยงข้อมูลการชำระภาษีรถยนต์ทุกประเภทระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการ e-DLT ในประเทศไทย โดยคาดว่าบริษัทฯ จะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก บริการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ให้สามารถชำระภาษีรถยนต์ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หลายรายการในคราวเดียว ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีรถยนต์ รวมถึงช่วยลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก

“เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ประจำที่มั่นคงในระยะยาวและผลักดันการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพื่อเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนมีนโยบายรับ-ส่งข้อมูลทางระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นทดแทนการใช้เอกสาร ขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Economy) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของเน็ตเบย์ในอนาคต" นายพิชิต กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ