รฟม.เริ่มขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลืองพรุ่งนี้ เล็งเซ็นสัญญาจ้างใน เม.ย.60

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 5, 2016 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฝ่ายกลยุทธ์และแผน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค.) รฟม.จะเริ่มเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารการร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และ สายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท พร้อมกันไปจนถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้

"ที่ผ่านมาได้มีเอกชนหลายรายโทรศัพท์มาสอบถามจำนวนมากพอสมควร เราเปิดขายซองถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้ แล้วหลังจากนั้นจะสรุปรายชื่อผู้มาซื้อซอง"นายธีรพันธ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

จากนั้น รฟม.ได้กำหนดเปิดรับซองข้อเสนอของทั้งสองโครงการในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 9.00-15.00 น. และกำหนดเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พ.ย.59 เวลา 13.00 น.

รองผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ในวันเปิดซองข้อเสนอการลงทุน จะมีคณะกรรมการมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) เข้าร่วม โดยจะมีการเปิดทั้ง 3 ซอง คือซองคุณสมบัติ ซองทางเทคนิค และ ซองราคา ซึ่งจะยังไม่มีการประกาศราคายื่นเข้ามาในวันนั้น แต่คณะกรรมการมาตรา 35ฯ จะพิจารณาก่อนว่าแต่ละรายผ่านคุณสมบัติ และ ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือไม่ จึงจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเสนอราคาต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุวันที่ชัดเจน แต่ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

"เราต้องมาดูข้อเสนอการลงทุนโครงการต้องประเมินข้อเสนอทั้งด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิค ส่วนราคาจะเปิดสุดท้าย เรื่องนี้ก็จะทำให้เร็ว เพราะเรามีกำหนดจะต้องเซ็นสัญญากับผู้รวมลงทุนภายในเดือน เม.ย.60" นายธีรพันธ์ กล่าว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลืองผู้รับสัมปทานมีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้า โดยมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง ระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจากรฟม.ให้เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้า โดยเอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร ค่าที่จอดรถและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งหมดที่เป็นไปตามเงื่อนไของร่างสัญญาร่วมลงทุน

ที่ผ่านมาบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ระบุว่าจะจับมือกับพันธมิตรเข้าร่วมประมูล ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) จับมือกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ซึ่งเป็นผู้เดินรถบีทีเอส, บมจ.ช.การช่าง (CK ) จับมือกับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม CK และเป็นผู้เดินรถสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT ขณะที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ (ITD) จับมือกับ บริษัท Transdev จำกัด จากฝรั่งเศส และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) จะร่วมกับพันธมิตร 2-3 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ