ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นลบ. BJC ที่ "A+"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 8, 2016 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่ระดับ “A+" พร้อมทั้งยกเลิก “เครดิตพินิจ" “Developing" หรือ “ไม่ชัดเจน" ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 แล้วกำหนดแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ให้ไว้แทน

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 50,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืม

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนธุรกิจและแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลาย การมีตลาดที่ครอบคลุมกว้างขวาง และผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้าที่มีชื่อเสียง การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 97.9% ของหุ้นทั้งหมดของ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้จากการผสานพลังทางธุรกิจระหว่างธุรกิจที่มีอยู่เดิมของบริษัทกับร้านค้าปลีกของบิ๊กซีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทจากการก่อหนี้เพื่อการขยายกิจการ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความแข็งแกร่งในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าการรวมกิจการกับบิ๊กซีจะเป็นไปอย่างราบรื่นโดยปราศจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนหรือมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่สูงกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งยังคาดหวังให้บริษัทปรับเพิ่มสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งขึ้นโดยเร็ว

ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการปรับโครงสร้างเงินทุนตลอดจนการลดลงของภาระหนี้สินที่ช้ากว่าคาด หรือหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลงเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่โอกาสปรับขึ้นของอันดับเครดิตในช่วงระยะเวลาปานกลางอาจมีข้อจำกัดเมื่อพิจารณาถึงภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจะถูกปรับเพิ่มขึ้นได้หากการรวมกิจการครั้งนี้ก่อให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจที่เกิดผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท

บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทขวดแก้วและกระป๋อง ตลอดจนสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค รวมถึงยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ณ เดือนมีนาคม 2559 บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้น 73.8% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มบริษัททีซีซีเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจ แหล่งรายได้ และตลาดรองรับสินค้าที่ครอบคลุม สินค้าและบริการของบริษัทเข้าถึงผู้บริโภคในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตภัณฑ์ในสายธุรกิจหลักของบริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งที่สำคัญให้แก่บริษัท

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำภายในประเทศในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (ขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียม) และธุรกิจสินค้าอุปโภค (กระดาษทิชชู ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว) นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากตราสินค้าชั้นนำต่าง ๆ ด้วย เช่น เซลล็อกซ์ ซิลค์ เทสโต โดโซะ และนกแก้ว ในปี 2558 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 42,893 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์สร้างรายได้ให้แก่บริษัทสูงสุดคิดเป็น 41% ของยอดขายรวม อีก 38% มาจากรายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค และ 17% เป็นรายได้จากกลุ่มเวชภัณฑ์และกลุ่มสินค้าทางเทคนิค

ในเดือนมีนาคม 2559 บริษัทซื้อหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 58.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบิ๊กซีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจห้างค้าปลีกสมัยใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 60% ของหุ้นทั้งหมดของ C-Distribution Asia Pte Ltd. และยังได้ทำการเสนอซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายอื่นของบิ๊กซีด้วย เมื่อการเสนอซื้อหุ้นดังกล่าวแล้วเสร็จ บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 97.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบิ๊กซี ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทั้งสิ้นเกือบ 210,000 ล้านบาท โดยในช่วงแรกบริษัทใช้เงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินทุนในการซื้อกิจการในครั้งนี้

ปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างเงินทุนซึ่งผสมผสานระหว่างการเพิ่มทุนโดยออกหุ้นสามัญใหม่และการกู้เงินระยะยาวเพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ใช้ในการซื้อกิจการ บริษัทได้รับเงินสดมากกว่า 80,000 ล้านบาทจากการจัดสรรหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน นอกจากนี้ บริษัทจะกู้เงินระยะยาว และ/หรือออกหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท การปรับโครงสร้างเงินทุนในครั้งนี้จะช่วยลดระดับเงินกู้รวมที่เกิดจากการซื้อกิจการตลอดจนลดภาระดอกเบี้ยอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้เงินกู้ระยะสั้นก้อนใหญ่ได้อีกเช่นกัน อีกทั้งยังคาดหวังว่าในช่วงระยะเวลาปานกลาง ผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นและทยอยลดภาระหนี้ลงจนสถานะทางการเงินกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนทำธุรกรรม

ธุรกิจค้าปลีกที่บริษัทซื้อกิจการในครั้งนี้จะสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและเสริมสร้างสถานะทางการแข่งขันให้แก่บริษัทยิ่งขึ้น ปัจจุบันบิ๊กซีบริหารร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่ (Hypermarket) จำนวน 126 แห่งและร้านค้าปลีกขนาดเล็กอีกจำนวนมาก สถานะทางการแข่งขันของบิ๊กซีมีความแข็งแกร่งโดยเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่จำนวน 2 รายหลักในประเทศไทย สำหรับปี 2558 บิ๊กซีมีรายได้ประมาณ 129,000 ล้านบาทและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเกือบ 13,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2559 รายได้รวมของบริษัทหลังควบรวมกิจการกับบิ๊กซีเมื่อปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 ล้านบาท และจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเกือบ 20,000 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของรายได้รวมของบริษัท อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) จะอยู่ที่ระดับ 10%-11% เงินทุนจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 5,000 ล้านบาทในปี 2558 เป็นที่ระดับมากกว่า 14,000 ล้านบาทในปี 2559 และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ในปี 2559

การรวมกิจการกับบิ๊กซีจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทในด้านการประหยัดต่อขนาดและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ การผสานพลังทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจะประกอบด้วยการจัดซื้อ การบริหารเงินสด ระบบกระจายสินค้า การรวมข้อมูล และทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังคาดหวังที่จะเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคและผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ภายใต้ตราสินค้าของบิ๊กซีด้วย อย่างไรก็ตาม การประหยัดต้นทุนซึ่งเกิดจากประโยชน์ที่ได้จากการผสานพลังทางธุรกิจและการประหยัดจากขนาดอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะปรากฎผล

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์และการผสานพลังทางธุรกิจของกลุ่มโดยรวม อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนและการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2559-2561 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายสาขาร้านค้าปลีกและเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่หรือซื้อกิจการขนาดใหญ่ใด ๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิรวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในปี 2559 และลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 4 เท่าในช่วงระยะปานกลาง

เมื่อพิจารณาโครงสร้างงบดุลในปัจจุบันของบริษัทและบริษัทย่อยแล้วหนี้สินของบริษัทจะอยู่ในสถานะด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) เมื่อเปรียบเทียบกับหนี้สินของบิ๊กซี อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมกรรมการของบริษัทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาเห็นชอบให้บริษัทสามารถเป็นผู้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินแทนบริษัทย่อยได้ ภายใต้แผนดังกล่าว เงินกู้ยืมจากภายนอกบางส่วนของบิ๊กซีจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเงินกู้จากบริษัท การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะลดผลกระทบจากการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในหุ้นกู้ของบริษัทลง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากผลของนโยบายดังกล่าวแล้ว อันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดใหม่ของบริษัทจะอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ