บอร์ด AOT ไฟเขียวแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2-3 รวม 1.47 หมื่นลบ. รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 25 ล้านคน/ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 17, 2016 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ตามที่ ทอท.เสนอ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2560-2568 มีรายละเอียด คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 (ปี 2560 – 2565) ต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์จำนวนประมาณ 1,500 คัน ด้านหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ขยายลานจอดอากาศยาน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และก่อสร้างทางเชื่อมยกระดับจากสถานีรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเข้ามายังท่าอากาศยานภูเก็ต มีวงเงินลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 3 (ปี 2566 – 2568) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 18 ล้านคนต่อปี เป็น 25 ล้านคนต่อปี มีวงเงินลงทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินลงทุนในระยะที่ 2 และ 3 เป็นเงินจำนวน 1.47 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับระยะที่ 2 คือ เริ่มกระบวนการออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)ในปี 2561 เช่นเดียวกับระยะที่ 2 เพียงแต่งานก่อสร้างจะเริ่มในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2568 สำหรับงานในโครงการประกอบด้วย การก่อสร้างทางขับขนานด้านทิศเหนือ ก่อสร้างสถานีดับเพลิงด้านทิศเหนือ ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายพื้นที่ห้องโถงผู้โดยสารขาออกเทียบเครื่องบินทางทิศเหนืออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ

ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ต อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาระยะที่ 1 ด้วยมูลค่าการลงทุน 5,790 ล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี โดย ทอท.ได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 และขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ได้นำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต มีวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผน เพื่อให้ท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นประตูการขนส่งของประเทศ เป็นเครื่องมือหลักในการเชื่อมโยงชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations, ASEAN) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศให้มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับสากลและสามารถรองรับความต้องการของประชาชนผู้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการจัดทำแผน ทอท.ได้ศึกษาขีดความสามารถสิ่งอำนวยความสะดวกปัจจุบันของท่าอากาศยานภูเก็ต ได้แก่ ระบบ ทางวิ่งทางขับ ซึ่งปัจจุบันมีทางวิ่ง 1 เส้น ความยาว 3,000 เมตร กว้าง 45 เมตร และมีทางขับ 8 เส้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (RESA) ปรับปรุงพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway Strip) และต่อขยายทางขับขนานเพื่อเชื่อมหัวทางวิ่ง 27 ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้เตรียมออกแบบและเตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอผลการอนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2561

ทั้งนี้ เมื่อต่อขยายทางขับขนานเชื่อมหัวทางวิ่งแล้ว จะสามารถรองรับเที่ยวบินได้ 22-25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง สำหรับลานจอดอากาศยานมี 25-30 หลุมจอด ในส่วนอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว และ ท่าอากาศยานภูเก็ตกำลังปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ

นอกจากนั้น จากการพิจารณาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการจราจรทางอากาศในภาพรวม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบในธุรกิจการบิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และปัจจัยการเมือง โดยพิจารณาจากระดับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548-2558) เป็นเกณฑ์ ทอท.ได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศของ ทอท.ว่า ในปี 2563 จะมีเที่ยวบินประมาณ 130,618 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 20,421,487 คน และมีปริมาณสินค้า 47,150 ตัน

ในปี 2568 จะมีเที่ยวบินประมาณ 158,805 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 25,369,300 คน และมีปริมาณสินค้า 58,438 ตัน และในปี พ.ศ.2578 จะมีเที่ยวบินประมาณ 216,852 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 36,070,669 คน และมีปริมาณสินค้า 86,058 ตัน

อนึ่ง สำหรับแผนแม่บทการพัฒนา ทภก.ดังกล่าว หากมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ทอท.จะพิจารณาปรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ