(เพิ่มเติม) กลุ่ม BSR ลั่นพร้อมทุ่มแสนลบ.ลงทุนสายสีชมพู-เหลืองไม่ต้องเพิ่มทุน BTS เชื่อช่วยดันผู้โดยสารโตเท่าตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 15, 2016 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ร่วมกับ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เตรียมเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในมี.ค.-เม.ย.60 โดยประกาศความพร้อมลงทุน 1 แสนล้านบาททั้งจากส่วนทุนและเงินกู้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน ซึ่ง BTS เชื่อจะช่วยผลักดันรายได้เป็นโตเท่าตัวหลังจากทั้งสองสายแล้วเสร็จในปี 63

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS กล่าวว่า บริษัทจะถือหุ้นในกลุ่ม BSR ในสัดส่วน 75% ขณะที่ STEC ถือหุ้น 15% และ RATCH ถือหุ้น 10% ซึ่งทั้ง 3 บริษัท มีความพร้อมที่จะลงทุน 2 โครงการ โดยแต่ละโครงการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท รวมเป็น 28,000 ล้านบาท และเงินลงทุนในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70,000 ล้านบาท จะมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และ/หรือ การระดมทุนจากตลาดทุน ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การออกพันธบัตร เป็นต้น

"กิจการร่วมค้า BSR ได้เตรียมการในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยได้มีการหารือกับสถาบันการเงินและผู้เกี่ยวข้อง และมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดหาเงินลงทุนทั้งหมดได้ทันครบถ้วนตามเวลาและเป้าหมาย"นายคีรี กล่าว

ทั้งนี้ ขณะนี้ได้มีสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศยื่นข้อเสนอ เป็นลักษณะเงินกู้โครงการ (Project Finance) วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถสรุปได้ 1-2 เดือน ส่วนระหว่างนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนซึ่งจะทยอยลงทุน โดยเริ่มต้นทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาทก่อน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการก่อสร้างงานโยธา รวมทั้งให้เงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธา จำกัดวงเงินสนับสนุนสำหรับสายสีชมพูไว้ไม่เกิน 20,135 ล้านบาท และสายสีเหลืองไม่เกิน 22,354 ล้านบาท และเอกชนผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา จัดหาระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า โดยวงเงินลงทุนทั้งหมดสำหรับสายสีชมพู 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลือง 51,810 ล้านบาท

สัญญาสัมปทานจะมีอายุ 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี) ผู้รับสัมปทานจะมีหน้าที่ในการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาระบบตลอดอายุสัมปทาน ตลอดจนจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากกิจการเชิงพาณิชย์อื่นๆ ในระบบ โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้กับ รฟม.ด้วย

นายคีรี กล่าวว่า BTS คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองเมื่อแล้วเสร็จในปี 63 จะทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าภายใต้สัมปทานของ BTS เติบโตเท่าตัวมาที่ราว 1.7-2 ล้านคน/วัน และทำให้รายได้ในงวดปี 62/63 พุ่งเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท จากงวดปีนี้ 59/60 ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 1-1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทยังมีที่ดินในมือ (land bank) อีกกว่า 800 ไร่ มูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาทที่พร้อมจะนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้เสริมเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ธุรกิจมีเดีย (บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI)) คาดว่าพื้นที่โฆษณาจะเติบโต 3-4 เท่าหลังเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง เพราะจะมีพื้นที่โฆษณาทั้งภายในสถานีและตัวรถไฟฟ้า จากระยะทางเดินรถที่เพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมส่วนต่อขยายใหม่ ช่วงหมอชิต-คูคต และ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวม 67.25 กม. จะเพิ่มเป็น 139 กม.หลังจากเดินรถเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กม. และ สายสีเหลือง ระยะทาง 30.4 กม.

นายคีรี กล่าวว่า จากการศึกษาทั้งสองเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรง เป็นเส้นทางที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะใช้รถไฟฟ้าเดินทาง เพราะมีการจราจรติดขัดอย่างมาก รวมทั้งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้

"เราเห็นแล้วว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว ชมพู เหลือง รวม 139 กม.เป็นระยะทางที่ยาวมาก ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นโครงข่ายสมบูรณ์มาก และ มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน BTS มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า...จากวันนี้ไม่ถึง 4 ปีเราก็จะได้ใช้กันแล้ว เรามั่นใจว่าผู้โดยสารจะขึ้นไปถึงเกือบ 2 ล้านคน/วัน ซึ่ง 1.7 ล้านคน/วันมีแน่นอน"นายคีรี กล่าว

นอกจากนี้ กิจการร่วมค้า BSR ยังได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม โดยสายสีชมพู เสนอให้มีการต่อเส้นทางระยะทางประมาณ 2.8 กม.จากสถานีศรีรัช บนถนนแจ้งวัฒนะ เข้าไปยังเมืองทองธานี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรอยู่หนาแน่น มีส่วนงานราชการอยู่จำนวนมาก คาดว่าจะมีประชากรในเมืองทองธานี ราว 1.5 -1.8 แสนคน และยังมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาเช่าพื้นที่ 10 ไร่จะเปิดเฟสแรกในม.ค.-ก.พ.60 คาดมีนักศึกษาราว 3-4 พันคน และมีผู้เข้ามาใช้บริการศูนย์แสดงสินค้า IMPACT ถึง 15 ล้านคน/ปี

นอกจากนี้ บมจ.บางกอกแลนด์(BLAND) ยังมีพื้นที่รอพัฒนา 200 ไร่ภายในเมืองทองฯด้วย

ส่วนสายสีเหลือง กิจการร่วมค้า BSR เสนอให้มีการต่อขยายเส้นทางออกไปอีก 2.6 กม.โดยส่วนต่อขยายจะเริ่มจากสถานีรัชดาไปทางทิศเหนือตามถนนรัชดาภิเษกและสิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสถานี N10 (บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (จากหมอชิตไปคูคต) จะทำให้ผู้โดยสารเดินทางสะดวกขึ้นและเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ และยังเสนอให้ใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว ทั้งบัตรแรบบิทหรือบัตรแมงมุม ที่สามารถเดินทางได้ทั้ง 3 ระบบ คือสายสีเขียว สีชมพู และ สีเหลือง เพื่อให้เชื่อมต่อได้สะดวกโดยไม่ต้องออกนอกระบบ โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าเพิ่มอีก

ดังนั้น จึงคาดว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการ จะมีจำนวนผู้โดยสาร 2 แสนคน/วัน ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองคาด 2 แสนคน/วัน

นายคีรี กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทยังมั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารจะสามารถเติบโตได้ตามคาดการณ์เดิมที่ 4-6% แม้ว่าก่อนหน้านี้จะปรับลดเป้าหมายการเติบโตไปเหลือราว 3% เมื่อครั้งเกิดสถานการณ์ในประเทศเมื่อเดือน ต.ค.59 ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวขึ้นแล้ว ทำให้เชื่อว่าจะผลักดันให้รายได้ปีนี้เติบโตได้ถึง 20% และในปี 2 ปี BTS จะเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต และ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ก็จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 7 แสนคน/วัน

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร BTS กล่าวว่า กิจการร่วมค้า BSR เตรียมสั่งซื้อรถไฟฟ้า แบบโมโนเรล จำนวนกว่า 300 ตู้ รองรับการเดินรถสายสีชมพูและสีเหลืองหลังลงนามสัญญากับทางการที่คาดว่าไว้ในเดือน เม.ย.60 โดยได้ทำข้อเสนอให้ใช้รถ 3 บริษัท คือ ฉงชิ่ง , บอมบาดิเอร์ และ scomi จากมาเลเซีย ซึ่งจะประมูลและสั่งซื้อขบวนรถเพื่อให้ทันภายใน 39 เดือน

โดยการเจรจาต่อรองกับ รฟม. จะนำข้อเสนอในซองข้อเสนอที่ 3 หรือข้อเสนออื่นๆ และซองที่ 2 หรือซองผลตอบแทน ที่อาจจะต่อรองเรื่องส่วนแบ่งรายได้ โดยรฟม.จะกำหนดให้ปรับขึ้นค่าโดยสารได้ทุก 2 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ

ขณะที่เตรียมนำรายได้จากการเดินรถสายสีชมพูและสายสีเหลือง ขายเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) หากเดินรถไปได้เป็นเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม BTS จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ