ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BANPU ที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 27, 2016 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.บ้านปู (BANPU) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของฐานลูกค้าและแหล่งถ่านหิน ความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพิ่มขึ้นหลังการนำบริษัทย่อยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาถ่านหินที่เป็นวัฏจักร ทั้งนี้ ความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลกที่ชะลอตัว ตลอดจนความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินของประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงมาตรการและนโยบายที่เข้มงวดซึ่งประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหินต่อไป โดยเงินปันผลรับจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมถ่านหินได้บางส่วน คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินและการบริหารการเงินอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินที่ดีตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้นจะช่วยให้บริษัทประคองตัวได้ในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินมีความผันผวน

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดจากสถานะการเงินในปัจจุบัน ในขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากราคาถ่านหินลดลงจนทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าความคาดหมายอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนโดยการก่อหนี้จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงและทำให้กระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้อันดับเครดิตถูกปรับลดลง

BANPU เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีเหมืองถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2558 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัท ในขณะที่กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 28% ของ EBITDA ส่วนกำไรจากประเทศจีนและประเทศไทยมีสัดส่วนประเทศละ 11% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาจากประเภทของธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 78%-86% ของ EBITDA ในปี 2556 จนถึงปี 2558 ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจไฟฟ้า

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทผลิตถ่านหินได้ 27.1 ล้านตัน ลดลง 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 555 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่าปริมาณการผลิตประมาณ 13 ปี

ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงในปี 2558 เนื่องจากราคาถ่านหินที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและบริษัทขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงินเพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเทียบกับรายได้จากการขายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11.0% ในปี 2558 เทียบกับอัตรากำไร 15.4% ในปี 2557 EBITDA ลดลงเหลือ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 จาก 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ราคาถ่านหินได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนประกาศนโยบายปฏิรูปการผลิตถ่านหินในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 โดยประกาศให้เหมืองถ่านหินสามารถดำเนินการผลิตถ่านหินได้เพียง 276 วันต่อปีจากเดิม 330 วัน ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมีเป้าหมายที่จะลดการผลิตถ่านหินลงให้ได้ 500 ล้านตันในช่วง 5 ปีข้างหน้า การปรับลดปริมาณการผลิตถ่านหินจำนวนมากในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคราวครึ่งหนึ่งของผลผลิตถ่านหินทั่วโลกผลักดันให้ราคาถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index (NEX) ปรับตัวขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ระดับ 91 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนตุลาคม 2559 จากราคาเฉลี่ย 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในครึ่งแรกของปี 2559 ราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินในเหมืองอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินเพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 51.35 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

บริษัทยังไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของราคาถ่านหินอย่างเต็มที่เนื่องจากสัญญาขายถ่านหินบางสัญญามีการกำหนดราคาก่อนที่ราคาถ่านหินจะมีการปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยังได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดีเซลที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและจากมาตรการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงการลดอัตราส่วนการขุดหน้าดินต่อถ่านหิน (Stripping Ratio) ส่วนเหมืองที่ประเทศออสเตรเลียนั้น ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยปรับตัวขึ้นเป็น 67 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตัน เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เนื่องจากบริษัทได้ปรับราคาขายถ่านหินกับลูกค้าในประเทศบางรายที่มีสัญญาครบกำหนดเป็นราคาใหม่ที่เทียบเคียงได้กับราคาส่งออกและราคาขายส่งออกของบริษัทก็ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เหมืองถ่านหินที่ออสเตรเลียมีต้นทุนสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 เนื่องจากประสบปัญหาการผลิตในเหมือง Mayuna และการย้ายอุปกรณ์ Longwall ที่เหมือง Springvale

เมื่อรวมอัตรากำไรของธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแล้ว อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเทียบกับรายได้จากการขายของบริษัทดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.8% เทียบกับ อัตรากำไรที่ 10.9% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยและประเทศลาวมีผลกำไรลดลงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 โดยบริษัทรับรู้กำไรตามวิธีส่วนได้เสียจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) และโรงไฟฟ้าหงสาเพียง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 การลดลงของกำไรดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในประเทศไทยและการปิดซ่อมนอกแผนของโรงไฟฟ้าหงสาในประเทศลาว

EBITDA ของบริษัทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 20.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 การเพิ่มขึ้นของกำไรเป็นผลจากราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นและความสำเร็จในการลดต้นทุนที่เหมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในครึ่งแรกของปี 2559 ทำให้ EBITDA ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ระดับ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อโครงสร้างทุนปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 57.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 จาก 58.3% ณ สิ้นปี 2558 เพราะบริษัทได้รับเงินจากการเพิ่มทุนและใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิรวมจำนวน 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) เท่ากับ 3.2 เท่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 เทียบกับระดับ 1.9-3.2 เท่าในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมาและเทียบกับ 5-6 เท่าในปี 2556-2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 7.4% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เทียบกับ 8.6%-11.2% ในปี 2556-2557

ราคาถ่านหินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากได้ลดแรงกดดันต่อการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีถัดไป ราคาถ่านหินที่สูงขึ้นจะช่วยให้กระแสเงินสดจากการดำเนินของบริษัทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 และในปี 2560 เพิ่มขึ้นแม้ว่าบริษัทจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากแผนการเพิ่มอัตราการขุดหน้าดินต่อถ่านหิน (Stripping Ratio) ก็ตาม กระแสเงินสดของบริษัทยังได้แรงสนับสนุนจากการปรับราคาขายถ่านหินของเหมืองออสเตรเลียบางสัญญาทดแทนสัญญาเดิมที่กำหนดราคาขายในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตถ่านหินทั่วโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นและความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินที่รัฐบาลจีนจะกำหนดใช้ต่อไปในขณะที่ความต้องการถ่านหินยังคงเปราะบางทำให้ราคาถ่านหินมีความผันผวน

บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มรายได้ที่มีความมั่นคง จากสมมติฐานว่าโรงไฟฟ้าหงสาจะมีการดำเนินงานที่ราบรื่นและการผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัทในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นตามแผน บริษัทจะมีรายได้เงินปันผลจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จากราว 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 คาดว่า EBITDA ของบริษัทตามสมมติฐานกรณีฐานจะฟื้นตัวจากประมาณ 350-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี 2558-2559 เป็นประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงปี 2556-2557

บริษัทได้นำบริษัทย่อยคือ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2559 ความสำเร็จดังกล่าวทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินเพิ่มขึ้นโดยเงินลงทุนใน BPP ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่ 78.7% มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 1,605 ดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2559 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเพราะว่าบริษัทย่อยได้รับเงินจากการขายหุ้นให้แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกรวมจำนวน 386 ล้านดอลาร์สหรัฐ และบริษัทได้นำเงินที่ได้รับส่วนใหญ่ไปใช้ชำระหนี้ คาดว่าอัตราส่วนหนี้เงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 50% ณ สิ้นปี 2559 จาก 57.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559

บริษัทวางงบลงทุนปีละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากรวมเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของ BPP และการลงทุนในธุรกิจผลิตก๊าซจากหินดินดาน (Shale Gas) แล้ว เงินลงทุนรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 350-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2559-2560 จากแผนการลงทุนและประมาณการกำไรคาดว่าอัตราส่วนหนี้เงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับปานกลาง อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 4-5 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ที่ระดับ 15%-20% ในปี 2560-2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ