รมว.พลังงาน หนุน PTT ปรับโครงสร้างยันไม่กระทบความมั่นคง เตรียมทำหนังสือแจง สตง.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 10, 2017 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การที่บมจ.ปตท.(PTT) จะปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก โดยการลดสัดส่วนการถือหุ้น และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในอนาคตนั้น เป็นการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัท ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีและดำเนินการได้อย่างเหมาะสม โดยเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวก็มีบริษัทเอกชนดำเนินการและแข่งขันอยู่แล้ว

"ตอนนี้เลยเรื่องของความมั่นคงพลังงานไปแล้ว ตอนนี้ผู้ค้าน้ำมันก็มีหลายรายที่ดำเนินการได้ การที่ปตท.จะตั้งบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี"พล.อ. อนันตพร กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะทำหนังสือเพื่อชี้แจงข้อสงสัยของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีขึ้นในเดือนก.พ.60

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า ปตท.จะทำหนังสือชี้แจงข้อสงสัยของสตง.ใน 3 ประเด็นไปยังกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ได้แก่ ประเด็นแรก เรื่องความมั่นคงพลังงาน ที่จะไม่ถูกกระทบ เพราะปตท.จะยังคงกำกับดูแลบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ต่อไป โดยยืนยันว่าการลดสัดส่วนถือหุ้นลงจะไม่มีผลต่อนโยบายการดูแลราคาขายปลีกน้ำมัน ขณะที่การซื้อขายน้ำมันกับหน่วยงานภาครัฐก็ยังอยู่ในการดูแลของปตท.

ประเด็นที่สอง เรื่องการทำให้ทรัพย์สินของภาครัฐสูญหายนั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมาปตท.ได้คืนสินทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติให้แก่ภาครัฐทั้งหมดแล้วตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด แต่ในส่วนของสินทรัพย์ PTTOR ที่เป็นสถานีบริการน้ำมัน คลังน้ำมัน กิจการน้ำมันนั้น ไม่ได้เป็นสาธารณสมบัติ เชื่อว่าการแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกไปจากปตท. จึงไม่ได้ทำให้สินทรัพย์ของภาครัฐสูญหาย

แต่ในทางกลับกันการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลท.ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ภาครัฐเพิ่มขึ้น เหมือนช่วงก่อนที่ปตท.กระจายหุ้นเข้าตลท.นั้น ปตท.มีสินทรัพย์กว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่หลังเข้าจดทะเบียนในตลท.จนถึงปัจจุบัน กระทรวงการคลังถือหุ้นในปตท.ราว 51% แต่ปตท.มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้สินทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การที่ PTTOR ระดมทุนเพิ่มขึ้นก็จะนำมาใช้ลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโต หรือหากไม่มีการลงทุนก็อาจจะจ่ายปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งก็จะทำให้ภาครัฐได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

ประเด็นที่สาม กรณีที่ สตง.เสนอให้ ปตท.ซื้อหุ้นเพิ่มในกิจการในกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพื่อให้คงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปแข่งขันกับเอกชน อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นเป็นกิจการที่อยู่ใน ตลท.ซึ่งการซื้อคืนต้องใช้เงินจำนวนมาก และยังไม่เห็นประโยชน์อย่างชัดเจนในการที่จะดำเนินการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาปตท.ก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และดูแลนโยบายหลักอยู่แล้ว

อนึ่ง บริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่อยู่ใน ตลท.และถือหุ้นต่ำกว่า 50% ได้แก่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ,บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ,บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

ขณะที่ปตท.มีแผนจะปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่ม โดยการโอนธุรกิจในกลุ่มให้กับบริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนพ.ย.59 โดย PTT เตรียมที่จะนำเสนอเรื่องต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆตามขั้นตอน โดยมีเป้าหมายจะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลท. โดยปตท.จะลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 45-50% จากเดิม 100% เพื่อลดบทบาทของการเป็นรัฐวิสาหกิจลง

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย PTT กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.ได้เสนอแผนการแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว หลังจากนี้กระทรวงพลังงานก็จะเป็นผู้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ