"โกลบอล กรีน เคมิคอล"จะร่วมทุน KTIS ทำ"ไบโอคอมเพล็กซ์"จากอ้อยหลักพันลบ.สรุปแผนปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 23, 2017 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ในกลุ่มบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการไบโอคอมเพล็กซ์จากวัตถุดิบอ้อย ใน จ.นครสวรรค์ โดยจะเป็นการร่วมทุนกับ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) คาดว่าจะมีแผนลงทุนที่ชัดเจนภายในปีนี้

เบื้องต้นจะดำเนินการใน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โรงหีบอ้อย และโรงงานเอทานอล จะมีมูลค่าหลักพันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลใน 2-3 ปี หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะต่อยอดผลิต Lactic Acid และ Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในอนาคต ซึ่งการดำเนินโครงการคอมเพล็กซ์ครั้งนี้ ก็เชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้กลุ่ม NatureWorks ผู้ผลิต PLA จากสหรัฐ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนโครงการดังกล่าวในไทยได้ต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ จากอ้อย จะเป็นส่วนหนึ่งชองโครงการเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่เป็นเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Cure เพื่อเป็นกลไลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ จากอ้อยดังกล่าว จะใช้เงินลงทุนจากการระดมทุนขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ GGC จากปัจจุบันได้ยื่นแบบแสดงรายการเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วและคาดว่าหุ้นของบริษัทจะเข้าซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 2/60

"GGC จะเป็น flagship ของ PTTGC ในเรื่อง green business มีพอร์ตที่เกี่ยวข้องคือเรื่องของปาล์มเอาผลผลิตปาล์มมาต่อยอดเป็นไบโอดีเซล และเรากำลังจะทำไบโอคอมเพล็กซ์ ที่เกี่ยวกับอ้อย สร้างโรงงานในพื้นที่ที่ปลูกอ้อย หีบอ้อย แต่ไม่ทำให้เป็นน้ำตาล เราจะหีบเป็นน้ำอ้อย แปรรูปอ้อยเป็นไบโอเคมีคอล ซึ่ง PTTGC มีเทคโนโลยีที่จะแปลงน้ำอ้อยเป็น Lactic Acid เป็นสารตั้งต้นเพื่อทำเป็น Polylactic Acid ต่อไป"นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้เจรจากับ KTIS ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย เพื่อตั้งไบโอคอมเพล็กซ์ จากอ้อยใน จ.นครสวรรค์ โดยมีพื้นที่สร้างโรงงานในคอมเพล็กซ์ราว 1 พันไร่ และยังมีพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นระดับแสนไร่ ซึ่งรายละเอียดของแผนน่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ และการก่อสร้าง 2 โครงการแรกคือ โรงหีบอ้อยและเอทานอลจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ใน 2-3 ปี

ส่วนโครงการผลิต Lactic Acid และ PLA ยังต้องขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันด้วย หากราคายังอยู่ในระดับต่ำเหมือนปัจจุบันก็จะทำให้ยากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพราะแข่งขันกับผลิตภัณฑ์น้ำมันได้ลำบาก แต่หากราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นถึงระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพก็จะมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสนใจมองการลงทุนในลักษณะดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย เช่น ขอนแก่น เป็นต้น

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับเงินที่ได้จากการะดมทุนขายหุ้น IPO นอกจากจะใช้ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์จากอ้อยแล้ว ยังจะใช้ขยายงานในส่วนของโครงการไบโอคอมเพล็กซ์จากปาล์ม ซึ่งจะมีการสร้างโรงงานไบโอดีเซล แห่งที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 2 แสนตัน/ปี ในจ.ชลบุรี เมื่อรวมกับโรงงานไบโอดีเซลแห่งแรก ในจ.ระยอง อีก 3 แสนตัน/ปี ก็จะทำให้มีกำลังการผลิตไบโอดีเซล เพิ่มเป็น 5 แสนตัน/ปี โดยไบโอคอมเพล็กซ์ จากปาล์ม จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2 พันล้านบาทในช่วงปี 60-61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ