ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม477,365.22 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 3, 2017 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 - 31 มีนาคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 477,365.22 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 95,473.04 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 20% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 65% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 308,775 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 108,500 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 18,057 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB226A (อายุ 5.2 ปี) LB196A (อายุ 2.2 ปี) และ LB666A (อายุ 49.2 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 25,367 ล้านบาท 13,240 ล้านบาท และ 12,590 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY179A (AAA(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,444 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT205A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 902 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) รุ่น BJC203A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 801 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง 3-8 bps. ในตราสารระยะยาว ด้านปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนมีความกังวลว่า การผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่ราบรื่น เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ยกเลิกการลงมติเกี่ยวกับการนำร่างกฎหมาย "American Health Care" ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" เพราะเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่เพียงพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นและดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ตลาดติดตามรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์ (31 มี.ค.) และผลจากการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. ช่วง 3-6 เดือน เหลือสัปดาห์ละ 30,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีการออกประมูลสัปดาห์ละ 40,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไป

สัปดาห์ที่ผ่านมา (27 - 31 มี.ค. 2560) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 14,853 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 5,981 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 11,292 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) 2,420 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                           สัปดาห์นี้        สัปดาห์ก่อนหน้า   เปลี่ยนแปลง            สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                             (27 - 31 มี.ค. 60)  (20 - 24 มี.ค. 60)         (%)  (1 ม.ค. - 31 มี.ค. 60)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)     477,365.22         397,424.86      20.11%           5,701,765.86
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                        95,473.04          79,484.97      20.11%              91,963.97
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)             106.53             106.08       0.42%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)               105.87             105.72       0.14%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้             1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (31 มี.ค. 60)             1.45       1.51    1.55    1.73    2.14     2.75     3.24     3.54
สัปดาห์ก่อนหน้า (24 มี.ค. 60)        1.44       1.52    1.55    1.76    2.18     2.83     3.32     3.58
เปลี่ยนแปลง (basis point)            1         -1       0      -3      -4       -8       -8       -4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ