(เพิ่มเติม) KSL คาดกำไรสุทธิปี 59/60 ดีสุดในรอบ 4-5 ปี หลังจะรับรู้กำไรพิเศษรวมกิจการเอทานอลกับ BCP ใน Q4

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 31, 2017 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) คาดว่ากำไรสุทธิในปี 59/60 (พ.ย.59-ต.ค.60) จะดีสุดในรอบ 4-5 ปี หลังจะรับรู้กำไรพิเศษจากการควบรวมธุรกิจเอทานอลของบริษัท กับธุรกิจชีวภาพของบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ที่จะแล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.60 และสามารถบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาในช่วงไตรมาส 4/60 ด้านกำไรจากการดำเนินงานปกติในปี 59/60 อาจจะไม่สดใสนัก จากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.8 ล้านตัน จากระดับ 7.1 ล้านตันในปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจเอทานอลดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าทรงตัว

โดยแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 59/60 จะลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากราคาขายน้ำตาลที่ลดลง และการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 4 ของปีด้วย

"โดยหลักการการที่เอาบริษัทไปรวม แล้วบริษัทนั้นดำเนินกิจการมา 10 กว่าปีแล้ว ค่าเสื่อมลงมาเยอะแล้ว แล้วตัวบริษัทนั้นยังมีกำไรอยู่ ฉะนั้น รวมกันอย่างไร ตีมูลค่ากันอย่างไรก็ต้องเกินทุน เพียงแต่จะเกินเท่าไหร่ต้องมาดูมูลค่า ณ วันนั้น ต้องเอางบสิ้นเดือนตุลาคมมาดูกัน ซึ่งจะบันทึกในไตรมาส 4 ของงบบัญชีของเรา เข้าใจว่าจะได้กำไรเยอะพอสมควร แต่ตัวเลขยังไม่นิ่ง น่าจะทำให้กำไรเราทำได้สูงสุดในรอบ 4-5 ปี ส่วนกำไรพิเศษที่ได้จากการได้รับเงินคืนค่ารักษาเสถียรภาพ อันนั้นไม่เยอะ แค่หลัก 100-200 ล้านบาท แต่ตัวเลขพวกนี้เป็น non cash กำไรตัวเลขไม่ใช่เงินสด"นายชลัช กล่าว

อนึ่ง สำหรับการควบรวมธุรกิจเอทานอลครั้งนี้จะเป็นการควบรวมระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทำธุรกิจชีวภาพ ของ BCP กับ บริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KSL จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับโอน และเข้าถือหุ้น 99.99% ในบมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น ซึ่งทำธุรกิจเอทานอล

โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การควบรวมกิจการเอทานอลของ KSL ในระยะสั้นคาดว่าจะรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนใน KSLGI ออกไป 60% ตามมาตรฐานบัญชี โดยมาจากส่วนต่างของมูลค่ายุติธรรมและมูลค่าทางบัญชีของ KSLGI เบื้องต้นคาดกำไรส่วนนี้ราว 2 พันล้านบาท ซึ่งจะถูกรับรู้อยู่ในงบไตรมาส 4 ของปี 59/60 ของ KSL ซึ่งเป็นรายการ Non-Cash และ One-Time

ทั้งนี้ KSL เคยทำกำไรสุทธิได้สูงถึงระดับ 2.35 พันล้านบาทเมื่อปี 54/55 ขณะที่ในปี 58/59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.43 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ราว 800-900 ล้านบาท เป็นกำไรพิเศษทั้งจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน เนื่องจากราคาประเมินที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ,กำไรจากการขายสินทรัพย์ เป็นต้น

นายชลัช กล่าวว่า การควบรวมกิจการเอทานอลของบริษัทกับธุรกิจชีวภาพของ BCP จะอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ ซึ่ง BCP จะถือหุ้นอยู่ 60% ส่วน KSL จะถือหุ้น 40% ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซล (B100) ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวม 1.71 ล้านลิตร/วัน ใช้มันสำปะหลังและกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ และในอนาคตมีแผนจะนำบริษัทใหม่ดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นภายใน 1 ปีจากเดือน ต.ค.60 หรือไม่เกินไตรมาส 4/61 เพื่อระดมทุนรองรับการขยายงานของแต่ละธุรกิจ

ในส่วนของ KSL ซึ่งมีโรงงานเอทานอลอยู่ 2 โรงงาน กำลังผลิตรวม 3.5 แสนลิตร/วัน อยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตอีก 2 แสนลิตร/วัน สำหรับโรงงานในจ.ขอนแก่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างในต้นปีหน้า ด้วยเงินลงทุนไม่เกิน 1 พันล้านบาท

ขณะที่ BCP มีแผนจะขยายโรงงานเอทานอลของบริษัทร่วมทุนกับบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด เป็นราว 2 แสนลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.5 แสนลิตร/วัน คาดว่าการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเอทานอลทั้ง 2 แห่งจะเล้วเสร็จพร้อมกันในปลายปี 61 ส่วนธุรกิจไบโอดีเซลของ BCP นั้น ล่าสุดเพิ่งเสร็จสิ้นการขยายกำลังการผลิตเป็น 8.1 แสนลิตร/วัน

สำหรับสาเหตุที่ KSL ต้องการขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า เพราะหลังการรวมกิจการเอทานอลกับ BCP ครั้งนี้ทาง BCP จะเป็นผู้รับซื้อเอทานอลราว 50% จากเดิมที่ KSL ขายให้ BCP น้อยมาก และขายให้กลุ่มเชลล์และเอสโซ่เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ในอนาคตบริษัทใหม่ที่เกิดจากการรวมทุน ยังมีโอกาสต่อยอดในธุรกิจไบโอพลาสติกในอนาคต และการที่เป็นบริษัทที่กำลังผลิตขนาดใหญ่ และวัตถุดิบที่ครอบคลุมทั้งมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่จะต่อยอดเป็นไบโอพลาสติก เช่น ในกลุ่มเครื่องสำอาง เป็นต้น ให้ความสนใจบริษัทร่วมทุนใหม่มากขึ้น

นายชลัช กล่าวว่า ในด้านผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 59/60 ที่ไม่นับรวมรายการพิเศษยังไม่ค่อยสดใสนัก หลังปริมาณอ้อยเข้าหีบในปี 59/60 ลดลงมาอยู่ที่ 6.8 ล้านตัน จากระดับ 7.1 ล้านตันในปีก่อนหน้า จากปริมาณอ้อยที่ปลูกในปี 58 ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งส่งผลให้ได้ปริมาณน้ำตาลในปี 59/60 ลดลงด้วย โดยในช่วงครึ่งแรกของปีสามารถทำกำไรสุทธิได้ระดับ 1.09 พันล้านบาท จากราคาขายน้ำตาลที่สูงขึ้นตามราคาขายน้ำตาลที่ทำราคาล่วงหน้าได้ในระดับสูง แต่กำไรน่าจะอ่อนตัวในช่วงครึ่งปีหลังจากราคาน้ำตาลที่ลดลง

ส่วนธุรกิจเอทานอลในปี 59/60 ก็เดินเครื่องได้ไม่เต็มที่อยู่ที่ราว 90 ล้านลิตร ขณะที่ราคาเอทานอลอยู่ในระดับที่สูงราว 25 บาท/ลิตร ช่วยทำให้มาร์จิ้นยังอยู่ระดับที่ดี ด้านธุรกิจไฟฟ้าก็อยู่ในระดับที่ดีพอสมควร เพราะราคาขายลงมาก แต่มีปริมาณขายไฟฟ้าได้มากขึ้น ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้นั้น บริษัทไม่ได้รับประโยชน์มากนักเพราะจะมีหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 59/60

"ครึ่งปีแรกดูดี ครึ่งปีหลัง soft ลงเยอะ ไตรมาส 1 และ 2 กำไรดีจากที่เรามีรายการพิเศษ และราคาขายที่ดี แต่ครึ่งปีหลังราคาน้ำตาลลง แม้จะกระเตื้องขึ้นหน่อยมาที่ 14-15 เซนต์/ปอนด์ ก็ไม่แย่มาก ทั้งปีกำไรคงไม่เติบโตเท่าไหร่ ยกเว้นกำไรพิเศษที่ได้จากการควบรวมธุรกิจเอทานอล"นายชลัช กล่าว

นายชลัช คาดว่าการดำเนินงานในปี 60/61 (พ.ย.60-ต.ค.61) น่าจะเป็นปีที่ดีของบริษัท แม้ราคาน้ำตาลเฉลี่ยน้ำตาลในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 16-17 เซนต์/ปอนด์ ต่ำกว่าปีนี้ที่เฉลี่ย 20 เซนต์/ปอนด์ แต่ด้วยปริมาณอ้อยที่คาดว่าจะมีมากขึ้นจากภาวะน้ำที่ดี และการขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลใน จ.เลย ที่จะแล้วเสร็จปลายปีนี้ ทำให้คาดว่าในปี 60/61 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากถึง 8.5-9 ล้านตัน จากระดับ 6.8 ล้านตันใน 59/60 ขณะที่ธุรกิจเอทานอลก็จะผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 95-100 ล้านลิตร เพราะจะมีปริมาณกากน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจไฟฟ้าก็จะมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย จากปริมาณกากอ้อยที่มากขึ้น

"ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ดี เพราะอ้อยจะเยอะ น้ำท่วมขนาดนี้ ฝนขนาดนี้ น่าจะทำให้เราได้อ้อยเยอะ พอได้อ้อยเยอะก็จะได้กากอ้อยเยอะ ขายไฟในส่วนที่เรามีอยู่แล้วได้ดีขึ้น มีกากน้ำตาลเยอะ ก็ไม่ต้องซื้อจากข้างนอกเยอะ"นายชลัช กล่าว

ปัจจุบัน KSL มีโรงงานน้ำตาล 5 แห่ง ตั้งอยู่ใน จ.ขอนแก่น, เลย, กาญจนบุรี และ ชลบุรี มีกำลังการผลิตน้ำตาลรวม 1.2 แสนตันอ้อย/วัน ขณะที่มีโรงไฟฟ้าในทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจะใช้ในโรงงานน้ำตาล ขณะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าคงเหลือก็จะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในลักษณะสัญญา non-firm ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงฤดูหีบอ้อยเท่านั้น มีเพียงโรงไฟฟ้าใน จ.ขอนแก่น ที่มีการขายไฟฟ้าให้ กฟภ.เป็นสัญญา firm เท่านั้น

ขณะที่มีโรงงานผลิตเอทานอล 2 แห่ง ตั้งอยู่ใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาด 1.5 แสนลิตร/วัน และตั้งอยู่ใน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ขนาด 3 แสนลิตร/วัน แต่ปัจจุบันมีการผลิตเพียง 2 แสนลิตร/วัน ตามขนาดเครื่องจักร รวมถึงยังมีวัตถุดิบไม่เพียงพอรองรับการผลิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ