เครือซีพี เล็งตั้งกองทุน CP Social Impact เงินประเดิม 1-2 พันลบ.ใน 5 ปีหนุนธุรกิจมีส่วนช่วยสังคม-ชุมชน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 2, 2017 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี เปิดเผยว่า เครือซีพีเตรียมจัดตั้งกองทุน CP Social Impact มีเงินเริ่มต้น 1-2 พันล้านบาทในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) เพื่อสนับสนุนธุรกิจ (Enterprise) มีมีส่วนช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือชุมชน สร้างงาน เพื่อหวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเป็นลักษณะสนับสนุให้มีการต่อยอดธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน โดยเครือซีพีจะนำความรู้และการตลาดเข้าช่วยเหลือ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเปิดกว้างให้ธุรกิจนำเสนอโครงการเข้ามาให้เครือซีพีข้าร่วมลงทุน จากนั้นหากธุรกิจประสบความสำเร็จ เครือซีพีก็จะออกจากการร่วมทุน

"เราจะดูโมเดลธุรกิจ เป็นธุรกิจที่มีส่วนช่วยเหลือชุมชน ดูเรื่อง Return เป็นเรื่องรอง แต่ธุรกิจต้องสร้างรายได้ มี social impact มีการสร้างงาน ...กรอบเวลาช่วยเหลือระยะเวลา 10 ปี สิ่งสำคัญ เอาองค์ความรู้การบริหารโครงการเข้าไป apply กับธุรกิจของเขา ตอนนี้เราทำอยู่แล้วแต่ไม่ใช่ลักษณะเปิดอย่างเช่นโครงการที่ร่วมมือกับภาครัฐ คนที่มีโครงการมาเสนอมาได้ เหมือน start up"นายศุภชัย กล่าว

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 58-60) เครือซีพีได้ให้งบประมาณโครงการทางสังคม จำนวนเงิน 15,700 ล้านบาท ได้แก่ งบประมาณโครงการด้าน CSR และเงินบริจาค รวม 3,000 ล้านบาท โดยผ่านมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)

นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาเครือซีพีและสถาบันการจัดากรปัญญาภิวัฒน์ รวมทุนการศึกษาของ CPALL รวม 2,000 ล้านบาท โครงการผิงกู่ในประเทศจีน หรือ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมใหม่ผิงกู้ในปักกิ่ง ที่ดำเนินการรูปแบบ Social Enterprise รวม 8,000 ล้านบาท และงบประมาณลงทุนด้าน ICT Digital Connectivity โรงเรียนประชารัฐ รวม 2,700 ล้านบาท

ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพี ซึ่งเกิดขึ้นจากการมุ่งมั่นและพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องของเครือซีพีและบริษัทในเครือฯทั้งหมดโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือฯ จึงทำให้องค์กรกรด้านความยั่งยืนในระดับโลกต่างให้การยอมรับ โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา CPF, CPALL และ TRUE ซึ่งเป็น 3 บริษัทหลัก

ในเครือฯได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI หรือ กลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลก นอกจากนี้สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ได้รายงานผลคะแนนความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกโดยพบว่าเครือซีพีได้คะแนนถึง 72.2% ใกล้เคียงคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกที่อยู่ระหว่าง 78-82%

รวมถึงการที่ CPF และ TRUE ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index จัดอันดับโดยฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ตอกย้ำแนวทางความยั่งยืนของเครือซีพีสอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก และล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาโครงการ CGR 2560 ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย IOD ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า CPF และ TRUE ได้คะแนน 5 ดาว ส่วน MAKRO ได้คะแนน 4 ดาว

ในปีนี้เครือซีพีได้จัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้ประกาศเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2563 (CP Group Sustainability Goals 2020)เพื่อให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯทั่วโลกดำเนินการเพื่อบรรลุ 12 เป้าหมายแห่งความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs โดยเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือซีพีจะเป็นแรงสำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งต่อการดำเนินธุรกิจของตนเอง ประเทศไทย และสังคมโลก

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯรวม 13 กลุ่มทั่วโลกจะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปี พ.ศ.2563 นั้นจะเป็นไปภายใต้ยุทธศาสตร์ Heart-Health-Home คือ Heart ความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล ด้านการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย

Health ความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณค่าทางสังคม ด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ด้านการศึกษา ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม

และ Home ความมุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ด้านการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ

นายศุภชัย กล่าวว่า ความยั่งยืน (Sustainability) ต่างกับ CSR ที่เป็นการเข้าไปช่วยเหลือระยะสั้น แต่เรื่องความยั่งยืน ต้องปล่อยมือให้เดินหน้าต่อไปได้จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญเพื่อบริหารต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ความยั่งยืนต้องวัดผลได้ (Social Impact) และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและมีเป้าหมายร่วมในการแก้ปัญหาสังคม ทั้งนี้ 4 แนวทางนี้จะช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนของเครือซีพี

โดยเรื่องความยั่งยืนธุรกิจ ได้นำปรัชญา 3 ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่ให้มองประโยชน์ของประเทศชาติ ประโยชน์ของประชาชนในทุกประเทศที่เข้าลงทุน และสุดท้ายประโยชน์ต่อองค์กร

นายศุภชัย กล่าวว่า เครือซีพีจะยกระดับบริษัทในเครือขึ้นเป็นระดับ World Class หรือระดับสากล นอกเหนือจาก 3 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกแล้ว โดยเครือซีพีมีบริษัทร่วมลงทุนในต่างประเทศ ราว 20 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเอชีย รองลงมาเป็นรัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ Road Map ในช่วง 10 ปี ข้างหน้าที่จะได้รับคัดเลือกเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนอยู่ในระดับ Top20 หรือ Top30

ด้านนายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรม และ กรรมกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) CPF กล่าวว่า CPF ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI 3 ปีติดต่อกัน และยังได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 5 จากอันดับที่ 7 ในปีก่อนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการประเมินผลงานทุกงานทุกปี

บริษัทยังต้องแก้ไขและพัฒนาจุดอ่อนอยู่เสมอ โดยยึดหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ และหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบตามทิศทางกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำคงอยู่ เพื่อยกระดับคุณภาพความปลอดภัยทางอาหารตลอดกระบวนการผลิต ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร พัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมถึงบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนภายใต้กรอบ 3Hs (Heart Health Home)

นอกจากนี้ นายสุขสันต์ ยังเผยว่า ในปี 63 CPF มีแผนส่งเสริมธุรกิจรายย่อย จำนวน 50,000 ราย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น

ส่วนนายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPALL กล่าวว่า เป็นปีแรกที่ CPALL ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของ DJSI และเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หมวดอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค (Food & Staples Retailing)

CPALL ได้รับคะแนนสูงสุด 3 หมวด ได้แก่ 1.หมวดการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) ให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการจากความพิถีพิถันคัดสรรสิ่งที่ดี มีการวิจัยและพัฒนาที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย พร้อมสร้างความสุขและความรู้สึกปลอดภัย

2. หมวดสาระสำคัญของการกำกับดูแลธุรกิจ (Materiality) คือมีการพัฒนาสินค้ามุ่งเน้นสุขภาพ และมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SME) พร้อมมียุทธศาสตร์ “7 go Green" สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน และสร้างค่านิยมใหม่ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากว่า 10 ปี

และหมวดที่ 3 คือ หมวดการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) ด้วยการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในสังคมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยการจ้างพนักงานทั่วทุกภูมิภาคกว่า 150,000 คนมากที่สุดในประเทศไทยและดูแลรักษา พัฒนาให้พนักงานมีความรู้ความสามารถอยู่เสมอ เห็นได้จากในปี 59 เพียงปีเดียว บริษัทได้จัดอบรมสัมมนาให้กับพนักงานไปแล้วเกือบ 100,000 คน ผ่านหลักสูตรอบรมเชิงวิชาชีพกว่า 210 หลักสูตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ