ADVANC รับค่าใช้จ่ายสูงถ่วงกำไรปีนี้แต่มั่นใจเข้าเป้า-รั้งเบอร์หนึ่งมาร์เก็ตแชร์ 48%,ยังไม่ฟันธงเข้าประมูลคลื่นรอบใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 9, 2017 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยปีนี้ผลประกอบการทำได้ตามเป้าหมายที่ได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ไว้ หลังเห็นตัวเลขงบในงวด 9 เดือนดีกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ทั้งรายได้จากการให้บริการไม่ร่วม IC , EBITDA และ EBITDA Margin จากการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหารและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการแจกเครื่องฟรีลดน้อยลงอย่างมากจากปีก่อนที่มีการแข่งขันรุนแรง และหันไปเพิ่มฐานลูกค้าระบบรายเดือน(Postpaid) ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น โดยสิ้นไตรมาส 3/60 เพิ่มขึ้นมาที่ 7.2 ล้านเลขหมายจากสิ้นปี 6.4 ล้านเลขหมาย แม้ว่าลูกค้าระบบเติมเงิน(Prepaid)ไหลออกมาก แต่มั่นใจยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 48% และจะรักษาสัดส่วนนี้ไว้หลังจากปีนี้หายไป 2%

อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิก็ถูกกดดันด้วยค่าใช้จ่ายเงินลงทุนและคลื่นความถี่ที่มาก โดยปีนี้มีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่มีค่าตัดจำหน่ายสูงจากผลการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา ได้แก่ คลื่น 900 MHz , 1800 MHz และ 2100 MHz รวมทั้งยังมีค่าเช่าใช้คลื่น เสาและอุปกรณ์ของทีโอที ที่ปีนี้จ่ายเต็มปี เหล่านี้จะเป็นค่าใช่จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมหรือลดทอนได้ตลอดอายุใบอนุญาต

ขณะที่การประมุลคลื่นความถี่รอบใหม่ที่มีคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่กสทช.จะใช้ราคาประมูลเดิมมาอ้างอิงนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะการตั้งราคาประมูลสูงผลักผู้ประกอบการแบกต้นทุนสูง ซึ่งทุกวันนี้ก็ Suffer กัน ดังนั้นการเข้าร่วมประมูลครั้งใหม่เอไอเอสต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ใหม่ที่รอกสทช.ชุดใหม่มากำหนด ความต้องการ ราคาเริ่มต้นการประมูล และสภาพการแข่งขัน ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หากราคาประมูลสูงคงต้องพิจารณากันหนักเพราะหากได้มาก็คืนต้นทุนที่ต้องแบกภาระเพิ่มต่อไป

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ในปี 60 คาดว่า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จากปี 59 ที่มี EBITDA ที่ 6 หมื่นล้านบาท โดยในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มี EBITDA 5.2 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหารและการตลาดได้ดี

ส่วนรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) ในปีนี้น่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้เติบโต 4-5% โดยในงวด 9 เดือนเติบโต 5.5% มาที่ 9.6 หมื่นล้านบาท โดยปีก่อนมีรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC เท่ากับ 1.2 แสนล้านบาท

“ไตรมาส 4 เรายังไม่ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย เพราะในไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การแข่งขัน การแจกเครื่องมือถือฟรี ก็อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยปกติไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่น แต่เรา conservative ก็ยังไม่ได้ปรับเป้าหมาย คาดว่าปีนี้ทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่เราวางไว้ ไม่ได้มีอะไรหวือหวา"นายสมชัย ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

ขณะที่ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) คาดว่าทำได้ตามเป้าหมายที่ 42-44% โดยในงวด 9 เดือนทำได้แล้ว 44.7% โดยปีก่อนทำได้ 40%

อนึ่ง ADVANC รายงานกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนปี 60 ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากงวด 9 เดือน ปี59 ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท

นายสมชัย กล่าวว่า ในปีนี้เอไอเอสใช้วิธีการตลาดด้วยการอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์มือถือน้อยลงเหลือประมาณ 2-3 แสนเครื่อง จากปี 59 ที่แจกเครื่องฟรี 10 ล้านเครื่อง เพราะในขณะนั้นเอไอเอสมีลูกค้า 2G อยู่ถึง 12 ล้านเลขหมาย และยังไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ได้ แต่เมื่อได้คลื่นความถี่ลิอตใหม่มาแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องเร่งโอนย้ายลูกค้า 2G ไป 3G จึงลดลง

ปัจจุบัน ลูกค้า 2G เหลืออยู่กว่า 3 ล้านเลขหมาย ซึ่งเอไอเอสจะค่อยๆ ทยอยโอนย่ายโดยชักชวนให้เปลี่ยนมาใช้ 3G เพราะโดยธรรมชาติผู้บริโภคจะชอบเปลี่ยนมือถือไปเรื่อย ๆ อยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนก็จะเป็นเครื่อง 3G โดยอัตโนมัติ และให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพม์มือถือลูกค้าระบบรายเดือน (Postpaid) ลดลงจาก 50% เหลือ 10-20% รวมทั้งสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหารและการตลาดได้ ดังนั้น EBITDA และ EBITDA Margin ในปีนี้จึงสูงขึ้นกว่าปีก่อน

แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลคือกำไรสุทธิปีนี้ถูกดดันจากค่าใช้จ่ายเกึ่ยวกับคลื่นความถี่ ซึ่งส่วนนี้เป็นต้นทุนที่มหาศาล โดยเฉพาะต้นทุนจากการประมูลคลื่นความถี่มาในราคาสูง โดยคลื่น 1800 MHz อยู่ราวกว่า 4 หมื่นล้านบาท ได้ใบอนุญาต 18 ปี มีค่าตัดจำหน่ายเฉลี่ยปีละ 2 พันกว่าล้านบาท ส่วนคลื่น 900 MHz ราว 7.6 หมื่นล้านบาท ใบอนุญาต 15 ปี มีค่าตัดจำหน่ายเฉลี่ยปีละ 5 พันล้านบาท ขณะที่ คลื่น 2100 MHz ประมูลมา 2 หมื่นกว่าล้านบาท ใบอนุญาต 15 ปี มีค่าตัดจำหน่ายเฉลี่ยปีละ 1.5 พันล้านบาท รวมแล้วจะมีต้นทุนส่วนนี้ปีละ 8,500 ล้านบาท

รวมทั้ง เอไอเอสมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากข้อตกลงกับ บมจ.ทีโอทีและการขยายโครงข่าย 4G บนคลื่น 2100 MHz เป็นค่าใช้คลื่น เสา และอุปกรณ์ ในปี 60 ที่ 9,500 ล้านบาทซึ่งจ่ายเต็มปี จากปีก่อนจ่ายไม่เต็มปี (เริ่ม ก.ค.59) ที่ 3,775 ล้านบาท และในปีต่อๆ ไปจ่ายปีละ 9,500 ล้านบาท รวมรายจ่ายสองส่วนนี้สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่าย 4G อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาเอไอเอสลงทุนต่อเนื่องปีละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้าการลงทุนน่าจะลดลงจากปีนี้สำหรับคลื่นเดิม แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ยังคงเป็นแรงกดดันกำไรในปีต่อๆไป

“EBITDA ไม่น่าห่วง เพราะเราควบคุมต้นทุนได้ แต่กำไรสุทธิน่าเป็นห่วง เพราะมีค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย เป็นค่าใช้จ่ายเงินลงทุนและคลื่นความถี่ ปีละเกือบ 2 หมื่นล้าน และลงทุนอีกปีละ 4 หมื่นล้าน ลงทุนจริง 2 หมื่น และต้นทุนคงที่ 2 หมื่นล้าน"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าว

*มั่นใจรั้งตำแหน่งเบอร์หนึ่ง รักษาส่วนแบ่ง 48%

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดที่ 48% หายไป 2% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 50% โดยฐานลูกค้าปัจจุบันอยู่ที่ 40.2 ล้านเลขหมาย จากปีก่อนมีจำนวน 41 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันมีลูกค้าระบบรายเดือน (Postpaid) จำนวน 7.2 ล้านเลขหมาย เพิ่มจากสิ้นปี 59 ที่มี 6.4 ล้านเลขหมาย ส่วนลูกค้าระบบเติมเงิน(Prepaid) มีอยู่ 33 ล้านเลขหมาย ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่มี 34.6 ล้านเลขหมาย

โดยใน 3 ไตรมาสลูกค้า Prepaid ไหลออกต่อเนื่อง ไตรมาส 1/61 ไหลออก 6 แสนเลขหมาย ไตรมาส 2/61 ไหลออก 5 แสนเลขหมาย และไตรมาส 3/61 ไหลออก 5 แสนเลขหมาย เพราะเอไอเอสไม่ลงไปแข่งขันโดยใช้วิธีแจกเครื่องฟรี เพราะเห็นว่าพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ว่าจะแจกเครื่องฟรีหรือไม่ ก็เข้ามาเดือนละประมาณ 4 ล้านเลขหมาย และออกไป 3.7-3.8 ล้านเลขหมาย คงอยู่ (Net Add) ราว 2-3 แสนเลขหมาย

ปัจจุบัน เอไอเอสเน้นการเพิ่มลูกค้า Post paid โดยยังให้ส่วนลดค่าเครื่อง ออกแพ็คเกจจูงใจทีลูกค้ามีการใช้ดาต้ามากขึ้น และส่งผลให้มีรายได้ต่อเลขหมาย/เดือน (ARPU) ดีขึ้น เฉลี่ยทั้งสองระบบอยู่ที่ 254 บาท/เดือน จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 251 บาท/เดือน ทั้งนี้ ARPU ของ Postpaid ณ สิ้นไตรมาส 3/60 อยู่ที่ 637 บาท/เดือน จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 510 บาท/เดือน

สิ้นไตรมาส 3/60 รายได้จาก Postpaid มีสัดส่วนอยู่ที่ 42% และ 58% จาก Prepaid จากปีก่อนมีสัดส่วน 38% กับ 62% ขณะที่เทียบในแง่จำนวนลูกค้า Postpaid มีสัดส่วนอยู่ที่ 18% ส่วน Prepaid อยู่ที่ 82% จากปีก่อนมีสัดส่วน 16% กับ 84%

“ผมเชื่อว่า ตลาดจะ Reset เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะเราต้องการรักษามาร์เก็ตแชร์ ไม่ให้ต่ำมาก วันนี้เราอยู่ที่ 48% หายไป 2% เราพยายาม maintain Top line กับ Bottom line ผมเชื่อว่าเราจะ maintain ตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ โดยปีนี้จะสนับสุนเครื่องฟรี 1-2 แสนเครื่อง ปีหน้าก็ยังมีบ้าง แต่ไม่เยอะ พยายามไม่ให้ไหลออกไป เพราะเรามีเป้าหมายที่จะรักษามาร์เก็ตแชร์"นายสมชัย กล่าว

ส่วนแนวโน้มตลาดโทรคมนาคมในปี 61 มองว่ายังมีโอกาสเติบโตสูงกว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเล็กน้อย โดยหากเศรษฐกิจเติบโต 4% ตลาดโทรคมนาคมจะเติบโตราว 5% หรือเติบโตสูงกว่าราว 1-2% เพราะถือว่ายังเป็นของจำเป็น และข่วยสนับสนุนอุตสหกรรมอื่นในการเชื่อมต่อโครงข่าย อาทิ ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ ทำให้ยังมีความต้องการสูง

"ไม่ได้อยู่ที่การเติบโต (Growth) แต่ความท้าทายอยู่ที่ต้นทุนว่จะคุมได้อย่างไร ผมถึงมีความเห็นรุนแรงมากที่จะมีการประมูลที่แพง เพราะ Operator ต้องลงทุนอีกมากเพื่อรองรับกับความต้องการในตลาด ดังนั้น ควรจะนำเงินมาลงทุน มากกว่านำไปจ่ายค่าประมูลคลื่น ถ้าจ่ายแพงลงทุนก็จะน้อยลง"นายสมชัย กล่าว

ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการใช้ดาต้าเฉลี่ย 6 GB/เดือน จากต้นปี 60 ใช้อยู่ 4 GB/เดือน ดังนั้น เอไอเอสได้ลงทุนต่อเนื่องในการขยาย Capacity เพื่อรองรับการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยสิ้นไตรมาส 3/60 มีสถานีฐาน 4G ติดตั้งแล้ว 54,300 สถานีฐาน จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มี 21,200 สถานีฐาน

*ปีหน้าเผชิญปัจจัยเสี่ยงประมูลคลื่นรอบใหม่

นายสมชัย กล่าวว่า ในปีนี้ผลประกอบการยังน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ความท้าทายจะอยู่ที่ปีหน้า ซึ่งสภาพการแข่งขันคงไม่แตกต่างจากปีนี้ แต่ปัจจัยที่จะทำให้ตลาดแกว่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ว่ากติกาจะออกมาเป็นอย่างไร อาทิ จะมีกี่ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นเป็นอย่างไร โดยที่ผ่านมาเป็นแค่ไกด์ไลน์ เพราะต้องผ่านประชาพิจารณ์ และการอนุมัติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งในปีหน้าจะมีคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการประมูล เพราะฉะนั้นเชื่อว่า operator ทุกรายยังรอดูรายละเอียดก่อน

ปัจจุบัน เอไอเอสมีความจำเป็นประมูลคลื่นน้อยกว่าคราวที่แล้ว เพราะคราวที่แล้วมีแค่คลื่นความพี่ 2100 MHz เท่านั้น สัญญาสัมปทานก็กำลังจะหมด ดังนั้นการได้คลื่น 1800 MHz มาทำ 4G และการได้คลื่น 900 MHz มาดูลูกค้า 2G เป็นความจำเป็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่วันนี้เอไอเอสมีคลื่น 2100/900/1800 MHz รวมแล้ว 55 MHz ความจำเป็นที่จะต้องเข้าประมูลคลื่นใหม่จึงลดลง

ดังนั้น การจะประมูลรอบนี้ เอไอเอสเหมือนกับบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั้น (TRUE) ก็มีความต้องการคลื่นน้อยลง ส่วนคนที่ต้องการมากๆ อาจจะเป็น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เพราะฉะนั้น Value ที่จะให้ราคาต่อการได้คลื่นมาก็จะไม่เท่ากัน

“ถ้าเราจะประมูลมี 3 ปัจจัย เรามีความต้องการมากน้อยแค่ไหน ราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม และ ถึงแม้ความต้องการจะน้อยจะมาก ก็จะต้องดูเรื่องการแข่งขันด้วยว่าการแข่งขันถ้าเราไม่เอาคลื่น แล้วคู่แข่งเอาถึงแม้จะแพง จะมีความได้เปรียบเสียบเปรียบกันหรือไม่ ดังนั้น ความต้องการ ราคา และสภาพการแข่งขัน เป็นปัจจัยที่จะพิจารณาในการเข้าร่วมประมูล อย่างไรก็ตาม ก็มีบทเรียนที่ได้สอนเราไว้ การเอาคลื่นความถี่เหล่านี้มีต้นทุน ไม่ใช่แค่อยากได้ เพราะในระยะยาวแล้วอาจจะไม่ดี ดังนั้นต้องมีสถานะการเงินที่แข็งแรง เพราะเอามามันเป็นภาระ“นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย ระบุว่า ราคาประมูลคลื่นความถี่จะแพงหรือไม่ขึ้นอยู่กับ Regulator ซึ่งแน่นอน หากราคาประมูลคลื่นไม่แพง หรือราคาเหมาะสม เอไอเอสก็อยากได้เพราะคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากร (Resouce) สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นจึงเห็นว่า กสทช.ในฐานะ Regulator ควรวางราคาประมูลที่คำนึงถึง 3 ฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ผลประโยชน์ของชาติ, ความอยู่รอดของผู้ประกอบการ และ ราคาให้บริการที่เหมาะสมต่อประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลที่ดี

ฉะนั้น การประมูลที่ผ่านมาราคาสูงมากเกือบจะสูงที่สุดในโลก ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะ Regulator ให้ประโยชน์กับภาครัฐอย่างเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ประกอบการต้อง Suffer วันนี้มีเอไอเอสรายเดียวที่มีกำไร ขณะที่รายอื่นต้องแบกภาระหนักและรายที่มีจำนวนลูกค้าที่น้อยก็ทำให้เกิดผลขาดทุน หรือกำไรน้อยลง เพราะฉะนั้นในภาพแบบนี้ ระยะยาวผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ อุตสาหกรรมก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแนวทางที่บอกประมูลแพงๆ บอกได้เลยว่าผิด ผิดหลักของการ balance ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนที่ควรจะทำให้เกิดความสมดุล

ในเชิงผู้ประกอบการ ไม่ว่า เอไอเอส ทรู ดีแทค อยากให้อุตสาหกรรมกลับมาสู่ความเป็นจริงที่ถูกต้อง หากดีแทคได้ราคาถูก เอไอเอสก็มีโอกาสได้ราคาถูกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าได้ราคาถูกก็มาช่วยถัวต้นทุนเดิม ถ้าไม่คิดแบบนี้ต่อไปก็จะติดขัดกันหมด

“วันนี้เรามีคลื่นพอที่จะทำได้ แต่ถ้าราคาไม่แพงเราก็สนใจ ทั้งสองคลื่น และเชื่อว่าทุกคนก็คิดเหมือนก้น แต่ถ้าราคายังแพงก็ต้องกลับมาดู เหตผลและความจำเป็นในการเข้าร่วมประมูล" นายสมชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ