PTT เร่งขยายเทรดดิ้งนอกปท. สร้างเครือข่ายทั่วโลกเสริมความมั่นคงพลังงาน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 28, 2017 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างเร่งขยายธุรกรรมเทรดดิ้งประเภท out-out ซึ่งเป็นการซื้อมาขายไปภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนปริมาณธุรกรรมเป็น 50% ภายในปี 63 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 40% เพื่อสร้างเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะที่สัดส่วนการธุรกรรมประเภท in-out ซึ่งเป็นนำผลผลิตในประเทศส่งไปขายต่างประเทศ และ out-in ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเข้ามาขายภายในประเทศนั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนปริมาณธุรกรรมราว 60% และจะลดลงเหลือราว 50% ในปี 63

"ถามว่าทำไมต้องเพิ่ม out-out การทำเทรดดิ้งหลัก ๆ จะเพิ่มความมั่นคง ต้องมีเครือข่ายค้าขายทั่วโลก เพื่อเข้าถึงแหล่ง supply ของน้ำมัน หรือพลังงานใด ๆ ก็ตาม การขยายในประเทศ in-out หรือ out-in มัน limit โดย out-in ขึ้นอยู่กับบ้านเราใช้แค่ไหน บ้านเราใช้ก็จะโตไม่เยอะ ส่วน in-out ขึ้นอยู่กับว่าบ้านเราผลิตได้แค่ไหน กำลังผลิตใหม่ ๆ ก็ยังไม่มี เทรดดิ้งจะโตคือ out-out ซึ่งต้องไปหาแหล่งต่างประเทศ การที่ไปหาแหล่งต่างประเทศ ทำให้มีเครือข่ายเยอะ ๆ เวลาเกิดวิกฤตพลังงาน เทรดดิ้งจะเป็นฮีโร่ในการนำเอาพลังงานจากเครือข่ายที่ติดต่อมา นี่คือวัตถุประสงค์หลักที่อัตราการเติบโตของ out-out ต้องมากกว่าข้างใน"นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวว่า ปัจจุบันปตท.ทำธุรกรรมเทรดดิ้งสำหรับสินค้า ประเภทน้ำมันดิบ,น้ำมันสำเร็จรูป และปิโเตรเคมี ซึ่งเป็นประเภทวัตถุดิบ (Feedstock) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ,ลอนดอน ของอังกฤษ ,ดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ,ไทย ,จีน และอินโดนีเซีย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณธุรกรรมเทรดดิ้งราว 1.3 ล้านบาร์เรล และคาดว่าในปี 65 จะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านบาร์เรล โดยในส่วนธุรกรรม out-out อาจทำสัดส่วนได้เพิ่มเป็น 52% ส่วนที่เหลือเป็นธุกรรม in-out และ out-in

ทั้งนี้ อินเดีย นับเป็นแหล่ง supply ปิโตรเคมีของธุรกรรมเทรดดิ้งจำนวนมาก โดยเป็นการซื้อมาเพื่อนำเข้าไปขายยังตลาดในยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันปตท.ยังได้หารือเพื่อซื้อขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย รวมถึงยังมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสหรัฐ เพื่อนำเข้ามาทำตลาดในเอเชียด้วย

สำหรับแผนการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของกลุ่มปตท. ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 61-65) จะเดินหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต (productivity improvement) ซึ่งแต่ละบริษัทในกลุ่มปตท.จะดำเนินการผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น EVEREST ของบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่มีเป้าหมายจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EBIT) 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 61 , MAX ของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่จะสร้าง EBIT ราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 62 และ ORCHESTRA ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีเป้าหมาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 61 เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจที่มีความชำนาญ ซึ่งทำได้ 2 มิติ ได้แก่ การขยายต้นทางทั้งในและต่างประเทศ และการขยายไปทางผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (speciality) มากขึ้น ซึ่งแต่ละบริษัทในกลุ่มก็จะมีการพิจารณาในแต่ละคณะกรรมการของแต่ละบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ