SEAOIL ศึกษาซื้อกิจการด้านพลังงานหวังหนุนผลงานพลิกฟื้น,โรงแยกคอนเดนเสทกลับมาผลิต Q1/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 25, 2018 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร ประธานกรรมการ บมจ.ซีออยล์ (SEAOIL) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงถูกกระทบจากภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่การขายน้ำมันทางทะเล และธุรกิจบริการจัดหาอาหาร วัตถุดิบ และให้บริการอื่น ๆ แก่ที่พักอาศัยในทะเล เรือเดินทะเล และแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในทะเล (Supply Management) ก็ยังไม่เติบโตมาก หลังราคาน้ำมันไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต

ดังนั้น บริษัทจึงยังมองหาการเข้าไปซื้อกิจการธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ที่สามารถสร้างกำไรได้ทันที โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 7-8 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินงานกลับมาฟื้นตัวได้

"ธุรกิจอื่น ๆ เรากำลังดูอยู่ อยู่ในขั้นตอนศึกษา ถ้ามีโซลูชั่นก็จะรายงานแจ้งตลาดฯด้วยถ้ามีนัยสำคัญ แต่ธุรกิจก็จะอยู่ใน arm range ของเราไม่ไกลจาก core business ทุกคนมุ่งมั่นที่จะทำบริษัทให้ผ่านพ้นวิกฤต พยายามหารายได้ หาโอกาสเพื่อสร้างกำไร...ส่วนจะกำไรเมื่อไหร่นั้น เรายังมีภาระเรื่องดอกเบี้ยและการขายน้ำมันทางทะเล ยังไม่เติบโต กิจกรรมก็ยังไม่มีการเพิ่ม"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

SEAOIL มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/59 โดยผลการดำเนินงานล่าสุดงวดไตรมาส 3/60 มีผลขาดทุนสุทธิ 23.6 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปี 60 ขาดทุนสุทธิ 52.82 ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักจากธุรกิจขายน้ำมันทางทะเล ขณะที่มีธุรกิจการให้บริการด้วย ก่อนจะขยายไปยังธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์มราว 7-8 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และกิจการที่รับบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 กิจการ ซึ่งเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในปีที่แล้ว

ส่วนโรงแยกคอนเดนเสท ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสารละลายเพื่อขายให้กับลูกค้า ที่ต้องหยุดดำเนินการหลังเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกในโรงงานอุตสาหกรรม อมตะนคร จังหวัดชลบุรี ของบริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมีคอล จำกัด (SOC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เมื่อปลายเดือนพ.ย.60 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างซ่อมแซมและปรับปรุงเพื่อให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น คาดว่าจะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/61

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นบริษัทมีการทำประกันภัย สำหรับความเสียหายที่เกิดจากเหตุอัคคีภัยต่อทรัพย์สิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเคลมประกันภัยได้ภายในไตรมาสแรกเช่นเดียวกัน

สำหรับการดำเนินงานธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ผ่านการถือหุ้น 50% ใน Pan Orient Energy (Siam) Limited (POES) นั้น ปัจจุบันยังคงมีการดำเนินกิจกรรมการผลิตอยู่ราว 400 บาร์เรล/วัน จากที่เคยผลิตขึ้นไปสูงถึง 700 บาร์เรล/วัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับ 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ธุรกิจปิโตรเลียมยังสามารถทำกำไรได้ แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงมาเหลือระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาน้ำมันกลับมายืนระดับใกล้เคียง 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็น่าจะเป็นทิศทางที่ดีต่อธุรกิจ

ส่วนการที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 นั้น กลุ่มบริษัทจะไม่เข้าร่วมประมูลด้วยเนื่องจากไม่มีข้อมูลมากเพียงพอจะเข้าไปแข่งขัน และคาดว่าผู้ที่จะเข้าประมูลจะเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่การที่รัฐบาลจะเปิดประมูลปิโตรเลียมทั่วประเทศรอบใหม่นั้น บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ แต่คาดว่าจะมีผู้ที่ให้ความสนใจเข้ามาร่วมประมูลจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดประมูลเมื่อใด

"ช่วงที่เราไปซื้อกิจการของแพนฯ เราคิดว่าเมืองไทยก็จะเปิดสัมปทานต่อไปอีก ให้มีการสำรวจขุดเจาะมากขึ้น เพราะปริมาณสำรองของเราก๊าซฯที่ผลิตในอ่าวเริ่มจะลดลง ถ้าไม่สำรวจเพิ่มต่อไปก็จะไม่มี พอรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้สำรวจ ขอสัมปทานเราก็ควรจะเป็น player ด้วย จึงจะมีคุณสมบัติเลยเราก็เลยเข้าซื้อแพนฯ หลังจากซื้อมาราคาน้ำมันก็ตกต่ำ เลยเป็นภาระของบริษัท เพราะเราไม่ได้ใช้เฉพาะเงินสด ส่วนหนึ่งกู้มาซื้อธุรกิจ ส่วนที่กู้มาก็มีภาระดอกเบี้ย ประกอบกับราคาน้ำมันตกต่ำ เลยทำให้ธุรกิจก็เป็น negative"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ