(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ลุ้นรีบาวด์ตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลัง Bond Yield ของสหรัฐฯอ่อนตัวลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 7, 2018 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะเกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์ตามตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างอยู่ในแดนบวกกันหมดราว 1-3% เช่นเดียวกับดัชนีดาวโจนส์ที่รีบาวด์ขึ้นมาได้ราวกว่า 2% ภายหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ได้อ่อนตัวลง แต่ก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปใกล้ระดับ 3% อยู่

ทั้งนี้ มองว่าตลาดฯอาจจะใช้ระยะเวลา 2-8 สัปดาห์ในการปรับฐาน แต่ระหว่างนั้นก็อาจจะแกว่งตัวขึ้นได้บ้าง ดังนั้น ในทางกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนระยะยาวให้หาจังหวะซื้อได้ แต่นักลงทุนระยะสั้นให้ขายบางส่วนเมื่อราคาหุ้นขยับขึ้นไปแล้วถือเงินสด เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปเร็วกว่ากำไรของบรืษัทจดทะเบียน ดังนั้น จำเป็นจะต้องเห็นภาพกำไรที่เติบโตเร็วที่ทำให้เห็นว่าราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นเร็วเกินไป

นอกจากนี้ ให้ติดตามทิศทางของ Bond Yield และการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯที่สัปดาห์นี้น่าจะทยอยออกมามากขึ้น พร้อมมองว่าหากดัชนีฯยังไม่เกินระดับ 1,820 จุด ทิศทางตลาดฯยังเป็นการปรับฐาน โดยให้แนวรับไว้ที่ 1,770 จุด ส่วนแนวต้าน 1,800-1,806 จุด โดยหุ้นขนาดกลาง-เล็กอาจจะมีบทบาทมากขึ้นในช่วงหุ้นใหญ่ปรับตัว

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (6 ก.พ.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,912.77 จุด พุ่งขึ้น 567.02 จุด (+2.33%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,695.14 จุด เพิ่มขึ้น 46.20 จุด (+1.74%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,115.88 จุด เพิ่มขึ้น 148.36 จุด ( +2.13%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 391.05 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 42.09 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 782.93 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 143.64 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 30.41 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 39.45 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 14.66 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (6 ก.พ.61) 1,788.43 จุด ลดลง 21.89 จุด (-1.21%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,220.15 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 ก.พ.61
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (6 ก.พ.61) ปิดที่ระดับ 63.39 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 76 เซนต์ หรือ 1.2%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (6 ก.พ.61) ที่ 7.39 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 31.46 กลับมาแข็งค่าตามทิศทางภูมิภาคจากแรงขายดอลล์ มองกรอบวันนี้ 31.40-31.50
  • กกร. ห่วงค่าบาทแข็งกระทบขีดแข่งขันธุรกิจ ระบุเดือนม.ค. แข็งค่าขึ้น 4% คาดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ แนะธปท. เข้มงวดสกัดเก็งกำไรค่าเงิน หนุนเอกชนลงทุนนอก-ฝากเงินต่างประเทศ ขณะสรท.ประเมินบาทแข็งและขึ้นค่าแรง ฉุดส่งออกปี 61 โตลดลง 1.5-2% เหลือ 3.5-4% หวั่นคำสั่งซื้อ ไตรมาสสองลด กำไรหด จี้รัฐเร่งงัด 10 มาตรการช่วยเหลือ กู้วิกฤติส่งออก
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา เห็นชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคตะวันออก วงเงินรวม 7.73 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 2.02 หมื่นล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 2563
  • ซิตี้ โกลด์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 เติบโตที่ระดับ 3.8% มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่จะมีการปรับลดเล็กน้อย แต่ความต้องการของตลาดในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงทิศทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ยังดีต่อเนื่องเป็นผลจากกำไรในกลุ่มธุรกิจธนาคาร สุขภาพ และสินค้าบริโภคจะได้รับแรงหนุนให้ปรับต้วเพิ่มขึ้น
  • สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้ประเมินผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-22 บาทต่อวัน ทำให้ผู้ส่งออกต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจทำให้การขยายตัวของส่งออกปีนี้ลดลงจากเป้าเดิมขยายตัว 5.5% เหลือ 3.5-4% โดยอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ มี 5 กลุ่ม คือ กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกข้าว, กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปมันสำปะหลังและกลุ่มไก่สดแช่แข็งและแปรรูป

*หุ้นเด่นวันนี้

  • KKP (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อเพื่อรับปันผล" เป้า 85 บาท KKP ยังโดดเด่นในแง่ของปันผล จากเงินกองทุนที่แข็งแกร่งในระดับเกือบ 18% ซึ่งคาดงวด H2/60 ที่ 4 บาท/หุ้น คิดเป็นผลตอบแทน 5% จากการถือหุ้นไม่ถึง 3 เดือน ทำให้มีความทนทานต่อความผันผวนของตลาดในช่วงนี้เป็นอย่างดี พร้อมคาดกำไรสุทธิปีนี้ 6 พันล้านบาท +5% Y-Y จากการขยายตัวของสินเชื่อและการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมโดยเฉพาะธุรกิจตลาดทุนและด้าน IB โดยยังไม่รวม Upside จากกำไรและรายได้การขายสินทรัพย์ SAM ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากเศรษฐกิจดีขึ้นตามคาด
  • BBL (ไอร่า) เป้า 234 บาท คาดเงินปันผล H2/60 จำนวนเดียวกับ H2/59 ประมาณ 4.50 บาท พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 61 เติบโต 11% คาดอยู่ที่ 36,635 ล้านบาท (EPS 19.19 บาท) หลักๆ จากการตั้งสำรองหนี้ ลดลง 8.60% จากปี 60 หลังเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว คาดวัฎจักร NPL เริ่มเป็นขาลง ทำให้คาดไม่ต้องตั้งสำรองหนี้จำนวนมากเช่นปี 60
  • BGRIM (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) เป้า 34 บาท เลือกเป็น Stock pick ของกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยคาดผลประกอบการเติบโตสูงกว่า 38% และ 25% ในปี 61, 62 จากโครงการ SPP 3 แห่ง และมี Catalyst เชิงบวกจากการลงนามสัญญา PPA โรงไฟฟ้า SPP ต่ออายุ 3 โครงการ ตามแผนของ ERC ในช่วงกลางปี 2561 และแนวโน้ม Ft ปรับขึ้นในรอบเดือน พ.ค-ส.ค. 2561 ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น โดยคาดทุก 1 สตางค์/ kWh ต่อปีที่ปรับขึ้นจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการ 10 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ในปีที่ 2560 มีการปรับขึ้น Ft สุทธิ 17.4 สตางค์ต่อ kWh หาก ค่า Ft ปี 2561 ปรับขึ้นใกล้เคียงกับปีก่อน BGRIM จะได้ผลบวกประมาณ 170 ล้านบาท คิดเป็น Upside 6.5% ของประมาณการปี 2561
  • BANPU (เอเอสแอล) "ซื้อ"เป้า 25.50 บาท ปรับกำไรสุทธิปี 61 เพิ่ม จากการปรับราคาขายถ่านหิน โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อราคาถ่านหิน โดยเฉพาะ H1/61 จากภาพของอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และอุปทานที่ตึงตัว ขณะที่ผู้ผลิตหลักในภูมิภาคยังไม่มีแผนเพิ่มกำลังผลิต เป็นปัจจัยหนุนราคาถ่านหิน ทั้งนี้ คาดหมายกำไรสุทธิ Q4/60 ที่แข็งแกร่ง (คาดกำไรสุทธิ Q4/60 ไว้ที่ 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%QoQ) และการคาดหมายกำไรสุทธิปี 61 เติบโต 41%YoY รวมถึงมองราคาถ่านหินที่ยังอยู่ในระดับสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ