TMBAM ตั้งเป้า AUM ปี 62 เพิ่มแตะ 5 แสนลบ.หลังรุกออกกองทุนใหม่, เล็งขาย IPO กองทุนใหม่ลงทุนอินเดีย 21-24 พ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 8, 2018 08:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย (TMBAM) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปี 62 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) แตะ 5 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท โดยมีแผนออกกองทุนใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการอย่างครบถ้วน อีกทั้งเชื่อว่ากองทุน Global Income Fund และ Property Income Plus จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ปีนี้บริษัทมีแผนเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในกองทุนใหม่เพื่อลงทุนในอินเดีย ระหว่างวันที่ 21-24 พ.ค. 61 มูลค่าเริ่มต้น 2 พันล้านบาท โดยเชื่อว่าอินเดียมีโอกาสที่ดีในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประกอบกับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกพอสมควร

"สำหรับ TMBAM เรายึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้เราต้องมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุนให้ง่ายขึ้น รวมทั้งมอบโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ทุกรูปแบบของการลงทุนและตอบสนองต่อผู้ลงทุนทุกประเภท ทั้งในส่วนของผู้ลงทุนในกองทุนรวมและสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเรามุ่งหวังให้ผู้ลงทุนได้รับประสบการณ์การลงทุนที่ดี สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ" นายสมจินต์ กล่าว

นายสมจินต์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TMBAM ไม่หยุดนิ่งที่จะออกแบบกองทุนรวมเพื่อให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์หลักที่อยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนและเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา พัฒนาการของกองทุนในตระกูล "ธนแฟมิลี่" จากการริเริ่มนำเสนอกองทุนประเภทตราสารหนี้ระยะสั้น (Short-term Fixed Income Fund) ที่ยกระดับของผลตอบแทนให้สูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงินแต่ยังคงสภาพคล่องที่สูง (T+1) ซึ่งที่รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนกองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส มี AUM ใกล้เคียงแสนล้านบาท

ส่วนกองทุนใหม่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูนกับ AUM ขนาด 3.4 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้งตระกูล "ธนแฟมิลี่" ทั้ง 7 กองทุนแล้วมี AUM รวมกันกว่า 2.22 แสนล้านบาท (ณ 3 พ.ค. 61) นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการบริหารกองทุนตราสารหนี้ในสไตล์ Active ของ TMBAM เพื่อสร้างประสิทธิภาพของผลตอบแทนควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

สำหรับการบริหารกองทุนหุ้นไทยนั้น นับจากการเปิดตัวกองทุนทหารไทย SET50 เมื่อ 17 ปีที่ผ่านมาพร้อมความสำเร็จของผลการดำเนินงานกองทุน จาก NAV เริ่มต้นที่ 10 บาทเติบโตขึ้นเป็น 110 บาท (ณ 3 พ.ค. 61) นั้น TMBAM ยังคงยึดมั่นแนวทางการบริหารกองทุนหุ้นไทยในสไตล์ Passive ที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่เหมาะสมโดยเชื่อมั่นว่ากองทุนหุ้นไทยสไตล์ Passive ที่บริหารอยู่นั้นยังมีความเหมาะสมยิ่งเมื่อลงทุนในลักษณะ DCA (Dollar-Cost Averaging) เพื่อการสะสมความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่องและเพื่อผลสำเร็จในระยะยาว

นอกเหนือจากการบริหารจัดการลงทุนเอง TMBAM ยังร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกนำเสนอกองทุนรวมต่างประเทศคุณภาพให้ผู้ลงทุนไทยได้ใช้เป็นทางเลือกในการจัดพอร์ตตามความต้องการ กรณีที่ผู้ลงทุนไม่มีเวลาศึกษาหาข้อมูล TMBAM ยังได้นำเสนอกองทุนประเภทที่จะช่วยจัดทัพลงทุนให้โดยอัตโนมัติตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้ โดยออกกองทุนทั้งในรูปแบบระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว กองทุนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและประสิทธิภาพการทำ Asset Allocation โดยกองทุนเปิดทหารไทยจัดทัพลงทุน ระยะสั้น (2-3 ปี) ยังได้รับการจัดอันดับโดยรวมสูงสุดระดับ 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ (ประเทศไทย) อีกด้วย

สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ TMBAM ยังคงยึดมั่นและเป็นผู้นำในการนำเสนอสิ่งที่สำคัญที่สุดให้แก่สมาชิกโซลูชั่นการลงทุนแบบ TMBAM M Choice ช่วยเพิ่มศักยภาพของสมาชิกแต่ละรายให้สามารถจัดทัพลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ ปรับพอร์ตและสับเปลี่ยนกองทุนของตนได้อย่างอิสระตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีเงินเพียงพอยามเกษียณ ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ TMBAM M Choice ซึ่งจดทะเบียนแล้ว สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทกองทุนร่วม (Pooled Fund) ที่มีขนาดกองทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สามปีติดต่อกัน (ปี 58-60) ในโครงการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น จัดโดยสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการลงทุนยุคใหม่คือการให้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้สะดวก TMBAM จึงได้พัฒนาโปรแกรม "My Dream" โดยเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้ลูกค้ากองทุนรวม "เพื่อนคู่คิด" ในการลงทุน โดยโปรแกรมจะช่วยจำลองผลการลงทุนในอนาคต ให้คำแนะนำพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกัลความเสี่ยงทางการลงทุนของแต่ละบุคคล โปรแกรมนี้ยังสามารถติดตามผลระหว่างทางจนกว่าการลงทุนจะบรรลุถึงเป้าหมาย และยังได้ออกแบบโปรแกรมที่ช่วยคาดการณ์ความพอเพียงยามเกษียณให้กับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านโปรแกรม "RetireRich Simulator" สำหรับประชาชนทั่วไป TMBAM เชื่อว่าโปรแกรมการลงทุนที่มีมาตรฐานและหลักการรองรับข้างต้นเป็นโซลูชั่นการลงทุนที่มีคุณภาพ และเชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนสามารถยกระดับฐานะทางการเงินได้ในหนึ่งรุ่นคน

นายสมจินต์ กล่าวอีกว่าในสภาพเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐฯ อยู่ในทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2-3 ครั้ง โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องมือการลงทุน อาทิ ตราสารหนี้ และเครื่องมือการลงทุนในตลาดทุนที่มี Cash flow และเครื่องมือทางเลือก

ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะจะมีผลกระทบในอัตราส่วนทางการเงิน P/E และการเปรียบเทียบผลตอบแทน ดังนั้นในระยะสั้นจะทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว หรือตลาดหุ้นมากขึ้น แต่เชื่อว่าในอนาคตนักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนเป็นปกติมากขึ้น

"เรายังคงเชื่อว่าแม้ตลาดเงินตลาดทุนมักจะไปเพ่งในเรื่องของทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ยังเป็นพื้นฐานคือเศรษฐกิจโดยรวมของโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นความผันผวนนี้เราเชื่อว่าเป็นเรื่องชั่วคราว และในที่สุดก็จะผ่านไป และประเทศของเราก็ได้รับประโยชน์เยอะจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น"นายสมจินต์ กล่าว

แท็ก อินเดีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ