โบรกฯเชียร์"ซื้อ" BJC มองผลงานปีนี้แข็งแกร่งรับผลบวกคำสั่งซื้อเพิ่ม-ออกสินค้าใหม่,เทศกาลบอลโลกหนุนทางอ้อม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 16, 2018 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) จากการเติบโตที่แข็งแกร่ง มองแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/61 น่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/61 จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและกระป๋องที่ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น, ธุรกิจอุปโภคบริโภค ที่จะมีการออกสินค้าใหม่, ธุรกิจสินค้าเวชภัณฑ์ก็ยังเติบโตได้ดี

ขณะที่คาดว่าบริษัทลูกอย่าง บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ก็จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่จะเริ่มขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ จะช่วยส่งผลทำให้กำไรสุทธิทั้งปี 61 จะเติบโตดีกว่าปีก่อน

พักเที่ยงราคาหุ้น BJC อยู่ที่ 58.25 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.27% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง 0.45%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ                 ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ               ซื้อ                         70
          เคทีบี (ประเทศไทย)             ซื้อ                         72
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ               ซื้อ                         68
          เออีซี                         ซื้อ                         65
          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี                ซื้อ                         65

น.ส.สุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มกำไรไตรมาส 2/61 ของ BJC ยังเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก BIGC น่าจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะเริ่มในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะมีการถ่ายทอดสดในช่วงเวลาประมาณ 19.00-23.00 น.ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่น่าจะมีโอกาสได้รับชม

ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 คาดว่ากำไรอาจจะชะลอตัวลง แต่อาจจะไม่อ่อนตัวแรงตามช่วงฤดูกาลเหมือนในช่วงปกติที่ผ่าน ๆ มา

สำหรับกำไรสุทธิปีนี้มองว่ายังคงเติบโตจากปีก่อน เป็นไปตามการเติบโตในทุกธุรกิจของ BJC ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่มีการเติบโตจากการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ไตรมาส 4/60 และจะขยายเพิ่มเติมอีกในไตรมาส 3/61, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระป๋องมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มขึ้น, ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการออกสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี, ธุรกิจสินค้าเวชภัณฑ์และเทคนิคมีลูกค้าเพิ่มขึ้น

ส่วน BIGC มีการขยายสาขา 8 แห่งในปีนี้ รวมทั้งมีฐานลูกค้ากว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็คาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของ BIGC ในปี 61 น่าจะอยู่ระดับ 0.5%

"ภาพรวมของธุรกิจของ BJC แบ่งเป็น ตัวบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว และกระป๋อง เรามองว่ายังโตต่อเนื่อง ลูกค้ามีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น และมีการบริหารจัดการต้นทุนได้ดี, ธุรกิจอุปโภค บริโภค ในไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมาถือว่าเติบโตโดดเด่น และเชื่อว่าไตรมาส 2/61 ก็น่าจะโตต่อเนื่อง จากการออกสินค้าใหม่ๆ ,ธุรกิจสินค้าเวชภัณฑ์ ในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 นี้ น่าจะไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ใช่ช่วงการขาย ซึ่งช่วงการขายจะเป็นไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ของทุกปี ขณะที่ BIGC แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ในด้านการจัดโปรโมชั่นต่างๆ แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้ จากการขยายสาขาใหม่ และขายสินค้าไพรเวทแบรนด์ และการจัดกิจกรรมในช่วงฟุตบอลโลก ก็น่าจะส่งผลดีต่อมาร์จิ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น"น.ส.สุทธาทิพย์ กล่าว

นักวิเคราะห์ บล.เออีซี กล่าวว่า ยังคงประมาณการสำหรับผลการดำเนินงานของ BJC ในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ6.7 พันล้านบาท เติบโต 28.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยแรงหนุนหลักจากการเติบโตของยอดขายในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อย่าง BIGC ซึ่งยังคงมีแผนขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตอีก 8 แห่ง และมินิบิ๊กซีเพิ่มอีก 200 แห่ง ตามลำดับ รวมทั้งจะรีโนเวทสาขาเก่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เช่า

อีกทั้งมีแผนเพิ่มมาร์จิ้นด้วยการเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้ากลุ่ม B2B ได้แก่ ลูกค้า HoReCa และ Food Retailer ซึ่งมีมาร์จิ้นสูง, การเติบโตของยอดขายในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ หลังจะรับรู้การผลิตบางส่วนของเตาหลอมใหม่ (SB5) ที่ จ.สระบุรี ซึ่งคาดจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/61 หนุนให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีกวันละ 400 ตัน เป็นวันละ 3,435 ตัน และการมีแผนคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ

บทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่ายังคงคาดการณ์กำไรสุทธิของ BJC ปีนี้จะเติบโต 28% จากปีก่อนที่ทำได้ 5.2 พันล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งบรรจุภัณฑ์, อุปโภค-บริโภค และค้าปลีก (Modern Retail) รวมถึงสินค้าเพื่อสุขภาพ ที่จะมีการออกสินค้าใหม่ๆ

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์การเติบโตในปี 62 คาดว่ากำไรสุทธิจะโตต่อเนื่อง 13% จากปีนี้ เนื่องจากเกือบทุกธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น เช่น บรรุจภัณฑ์ประเภทแก้ว มีการเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลดีต่ออัตรากำไร และลดการนำเข้าขวดแก้วจากต่างประเทศ, ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคก็ปรับตัวดีขึ้น จากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจไทย และการที่รัฐเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพก็ช่วยเพิ่มอุปสงค์สินค้าด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม นอกจากกำไรที่เติบอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกจากการขยายธุรกิจไปสู่อาเชียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ