ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร SQ ที่ระดับ "BBB-" แนวโน้ม"คงที่"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 8, 2018 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของบมจ. สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) ที่ระดับ "BBB-" อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่แข็งแกร่งและยาวนานของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจบริการขุดขนดินและถ่านหิน ตลอดจนกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากสัญญาจ้างงานระยะยาวกับเจ้าของงานซึ่งมีฐานะทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูง และมูลค่างานที่รอรับรู้รายได้จำนวนมาก ทว่าจุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจจากการที่รายได้และกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทเกิดจากโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลงานที่ยาวนาน

สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง ความแข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนจากผลงานในการทำเหมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งบริษัทยังมีทีมวิศวกรเหมืองแร่ที่มีประสบการณ์สูงและมีเครื่องจักรที่ใช้ในงานเหมืองที่มีความพร้อม

บริษัทก่อตั้งในปี 2544 แต่มีประวัติในการทำงานขุดขนดินและถ่านหินมาตั้งแต่โครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 1 ในปี 2526 ในชื่อเดิมคือ บริษัท สหกลเอนยิเนียร์ จำกัด

บริษัทสามารถชนะการประมูลงานขุดขนดินและถ่านหินได้อย่างต่อเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งในรูปแบบผู้รับเหมาหลักหรือในรูปแบบผู้ปฏิบัติการร่วม บริษัทดำเนินงานโครงการที่เหมืองแม่เมาะมาแล้วหลายระยะตลอดช่วงเวลา 34 ปีที่ผ่านมาโดย กฟผ. จะใส่ชื่อของบริษัทเอาไว้ในรายชื่อของผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการรับงานซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับงานเหมืองของบริษัทได้เป็นอย่างดี

บริษัทพยายามแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการเติบโตในปี 2557 บริษัทได้ร่วมงานขุดเหมืองกับ Hongsa Power Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าระดับแนวหน้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ต่อมาในช่วงต้นปี 2560 บริษัทก็ได้งานขุดขนดินและแร่ดีบุกในประเทศเมียนมา โอกาสในการเติบโตดังกล่าวก็นำมาซึ่งความเสี่ยงของประเทศที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการก็เป็นการเริ่มต้นสู่โอกาสใหม่ในการขยายงานไปในต่างประเทศ

กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมาก

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาจ้างงานระยะยาวและผู้ว่าจ้างที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยผู้ว่าจ้างหลักของบริษัทคือ กฟผ. ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) อีกจำนวนมากด้วย โดย ณ เดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบอยู่ที่ 34,300 ล้านบาทซึ่งประกอบด้วยโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 (ช่วงปี 2555-2563) มูลค่า 849 ล้านบาท โครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 (ช่วงปี 2559-2568) มูลค่า 20,165 ล้านบาท โครงการเหมืองหงสาใน สปป. ลาว (ช่วงปี 2558-2569) มูลค่า 9,635 ล้านบาท และโครงการเหมืองดีบุกในประเทศเมียนมา (ช่วงปี 2561-2567) มูลค่า 3,672 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบในปัจจุบันของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2563

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจ

บริษัทมีขอบเขตงานที่ค่อนข้างแคบซึ่งทำให้บริษัทต้องแบกรับความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจ โครงการจากเหมืองแม่เมาะเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของรายได้โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งงานที่ยังไม่ส่งมอบก็เป็นโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่กี่โครงการเท่านั้น โครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือโครงการขุดขนดินและถ่านหินเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งคิดเป็น 59% ของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด ดังนั้น หากงานที่เหมืองแม่เมาะมีปัญหาหรือผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาดก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวมของบริษัทโดยตรง

ในช่วงปลายปี 2560 บริษัทเสียการประมูลงานในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 9 ให้แก่คู่แข่งรายสำคัญ โครงการดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว 10 ปีถือว่าเป็นโครงการมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่บริษัทเคยร่วมประมูล โดยโครงการน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2 เท่าของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบของบริษัทและน่าจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึงปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการที่บริษัทไม่ได้งานโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 9 ดังกล่าวนั้นจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโอกาสในการเติบโตในประเทศของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และแม้ว่าในเบื้องต้นบริษัทจะสามารถขยายธุรกิจไปในต่างประเทศได้สำเร็จ แต่บริษัทก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงจากผู้ว่าจ้างที่มีสูงกว่าด้วยเช่นกัน

ผลการดำเนินเป็นที่ยอมรับได้แม้จะเกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่โครงการ

บริษัทมีการเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากชนะการประมูลงานในเหมืองหงสาและเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งโครงการเหมืองแม่เมาะเป็นโครงการที่มีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่าสูงที่สุดของบริษัทในปัจจุบัน รายได้ของบริษัทในปี 2560 อยู่ที่ 3,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,891 ล้านบาทในปี 2559 1,868 ล้านบาทในปี 2558 และ 1,614 ล้านบาทในปี 2557 อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 37%-41% ในช่วงปี 2558-2560 อัตราส่วนกำไรที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าในช่วงแรกของการดำเนินโครงการแม่เมาะ ระยะที่ 8

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ต่ำกว่าที่คาดไว้เนื่องจากรายได้จากโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ต่ำกว่าคาดและต้นทุนในการดำเนินงานก็สูงกว่า โดยรายได้อยู่ที่ 831 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรอยู่ที่ 26% ลดลงจากระดับปกติที่ 35% ผลการดำเนินงานที่ลดลงของบริษัทเป็นผลมาจากการเกิดดินถล่มในพื้นที่ทิ้งดินของ กฟผ. ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 เมื่อเดือนมีนาคม 2561 เป็นผลให้ระบบสายพานลำเลียงและเครื่องจักรบางส่วนได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังทำให้การติดตั้งระบบสายพานลำเลียงต้องล่าช้าออกไปอีกด้วย และส่งผลให้ต้นทุนดำเนินงานในโครงการเพิ่มสูงขึ้นตามมา ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวจาก กฟผ.

ทริสเรทติ้งมองว่าการเกิดดินถล่มเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและคาดว่าบริษัทจะสามารถกลับมาทำผลการดำเนินงานได้ในระดับปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เมื่อระบบสายพานลำเลียงในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ดำเนินการได้เต็มที่ แม้ว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรที่ลดลงจากโครงการนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 อย่างไรก็ตาม จากประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรโดยรวมของบริษัทจะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 36%

ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง

อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 จากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่สูงขึ้น กล่าวคือ บริษัทต้องซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ในการเริ่มงานโครงการใหม่แต่ละโครงการ ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากได้รับเงินจำนวน 1,200 ล้านบาทจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไปในเดือนตุลาคม 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 52.8% ณ สิ้นปี 2559 ลดลงจากระดับที่สูงกว่า 75% ในปี 2557 และ 2558 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 71.9% ณ เดือนมีนาคม 2561 ซึ่งระดับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องมาจากการลงทุนใหม่ในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทต้องลงทุนทั้งหมดประมาณ 7,000 ล้านบาทในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนดังกล่าวเอาไว้ที่ระดับ 68%-74% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และจากการที่บริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนเป็นจำนวนมาก อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจึงคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 เท่าในช่วงอีก 1 ปีข้างหน้า

สภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง

บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทมีเงินสดจำนวน 579 ล้านบาทและมีวงเงินกู้ยืมระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1,237 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 ในขณะที่ภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีจำนวน 1,401 ล้านบาท โดยภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างซึ่งมีกำหนดชำระคืนด้วยเงินสดที่ได้รับตามความก้าวหน้าของโครงการ

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,300 ล้านบาทต่อปี อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 15%-20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 4 เท่าในช่วงเดียวกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจงานเหมืองเอาไว้ได้ทั้งงานจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ตลอดอายุสัญญาจ้างงานและควบคุมต้นทุนได้ตามแผนงาน ซึ่งจะทำให้บริษัทรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับเกินกว่า 36% ได้ ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะสูงเกินกว่า 70% แต่จะค่อย ๆ ลดลงตามความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงจะได้รับการชดเชยด้วยกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากโครงการ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่คาดไว้ ยิ่งไปกว่านั้น อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบหากบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากจนเป็นเหตุให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่สูงเกินกว่าระดับ 70% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการปรับเพิ่มในอนาคตอันใกล้เนื่องจากภาระหนี้คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตจะมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หากรายได้หรือกระแสเงินสดของบริษัทปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบันในขณะเดียวกันกับที่ภาระหนี้ของบริษัทลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ