ฟิทช์ ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่ GPSC จากแผนการเข้าซื้อหุ้น GLOW

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 22, 2018 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ ‘A+(tha)’ ของ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

การประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เกิดขึ้นเนื่องจาก GPSC ได้ประกาศที่จะเข้าซื้อหุ้นของบมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) ในสัดส่วนร้อยละ 69.11ของหุ้นทั้งหมดของ GLOW และทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 141.2 พันล้านบาท โดยในช่วงแรกบริษัทจะใช้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 142.5 พันล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะครบกำหนดชำระคืนหนึ่งปีหลังจากวันที่เข้าซื้อขาย

การเข้าซื้อหุ้นและแผนการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นยังต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ GPSC และต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การเข้าซื้อกิจการกระทบฐานะการเงิน: เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าสถานะทางการเงินของ GPSC จะอ่อนแอลง เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่อาจเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตของบริษัทที่ ‘A+(tha)’ ฟิทช์จะพิจารณาอันดับเครดิตของ GPSC และยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เมื่อการเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และโครงสร้างเงินทุนระยะยาวที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการ และสถานะทางการเงินของบริษัทหลังจากการเข้าซื้อกิจการมีความชัดเจนมากขึ้น การเข้าซื้อกิจการน่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน แต่บริษัทอาจต้องใช้เวลาสำหรับการดำเนินการตามแผนการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่วางไว้

บริษัทมีแผนในการจัดหาแหล่งเงินทุนในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งประกอบการออกหุ้นกู้และการเพิ่มทุน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในระยะยาว ดังนั้นการพิจารณายกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบอาจใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ซึ่งนานกว่าในกรณีทั่วไป

การพิจารณาสถานะทางเครดิต: ในการพิจารณายกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ ฟิทช์จะพิจารณาถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นหลังจากการเข้าซื้อกิจการ ในการพิจารณาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นในส่วนที่ได้จากกระแสเงินสดรับที่ไม่ได้มาจากการกู้ยืม โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มทุน ฟิทช์จะพิจารณาเฉพาะในกรณีที่กระแสเงินสดที่จะเข้ามาที่มีความแน่นอนเท่านั้น

นอกจากนี้ฟิทช์จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง GPSC และบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)ซึ่ งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยรวมถึงการสนับสนุนเพิ่มเติมพิเศษ และความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน และกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.

การกระจายตัวของสินทรัพย์ที่มากขึ้น: ฟิทช์เชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการจะทำให้สถานะทางธุรกิจของ GPSC ดีขึ้น เนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และการกระจายตัวด้านสินทรัพย์และด้านภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น GPSC จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 4,425 เมกกะวัตต์ และ 2,718 ตันต่อชั่วโมง จาก 1,530 เมกกะวัตต์ และ 1,512 ตันต่อชั่วโมง ณ สิ้นปี 2560 ตามลำดับ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 และกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 6 นอกจากนี้ GPSC กำลังพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มเติมจำนวน 410 เมกกะวัตต์ และ 73 ตันต่อชั่วโมง ตามลำดับ

คุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ GPSC จะยังคงแข็งแกร่งหลังจากการเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของ GLOW เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยรายได้ของ GLOW ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้า และไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และบริษัทร่วมของ ปตท. สัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในด้านปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยลูกค้าต้องรับซื้อไฟฟ้าและไอน้ำ ในระดับขั้นต่ำของกำลังการผลิตตามสัญญา

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป GPSC ณ ปัจจุบันที่ยังไม่รวมการเข้าซื้อกิจการของ GLOW มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัทที่ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ โดยบริษัทมีความสม่ำเสมอของกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ใกล้เคียงกันกับ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย โดยทั้งสองบริษัทนี้มีกำไรที่มีความสม่ำเสมอเนื่องจากการแข่งขันที่ต่ำ และในกรณีของ GPSC ที่มีสัญญาซื้อขายกับลูกค้าระยะยาว อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ GPSC อยู่ในระดับที่ดีกว่า BAFS อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ BAFS ได้พิจารณาถึงสถานะทางการเงินที่จะดีขึ้นตามลำดับหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทแล้วเสร็จ

สมมุติฐานที่สำคัญที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • เงินที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการจำนวน 141.2 พันล้านบาท โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นของ GLOW จะรับคำเสนอซื้อทั้งหมด
  • รายได้ของ GLOW อยู่ที่ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2561 และ 2562 (ปี 2560 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท)
  • กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ GLOW อยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2561 และ 2562 (ปี 2560 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท)
  • ประมาณการงบการเงินรวมของ GPSC ได้ถูกปรับโดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ทั้งในส่วน รายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่มีกำลังการผลิต 240 เมกกะวัตต์ โดย GPSC ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51
  • โครงการการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (เฉพาะส่วนการผลิตเชื้อเพลิง) และการขยายกำลังการผลิตของโรงผลิตสาธารณูปโภค เริ่มดำเนินงานในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ
  • เงินปันผลรับจากบริษัทย่อย และบริษัทร่วมที่ประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี ในปี 2561 และปี 2562 (2560: 564.5 ล้านบาท)
  • เงินลงทุนจำนวน 5.3 พันล้านบาท ในปี 2561 และ 1.4 พันล้านบาทในปี 2562 และเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยจำนวน 1.2 พันล้านบาทในปี 2561 และ 870 ล้านบาทในปี 2562
  • จ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก - ปัจจัยที่ทำให้ฟิทช์ยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบและคงแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย การเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และโครงสร้างเงินทุนระยะยาวที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการ และสถานะทางการเงินของบริษัทหลังจากเข้าซื้อกิจการมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ GPSC สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน

ปัจจัยลบ - โครงสร้างเงินทุนของบริษัทหลังจากเข้าซื้อกิจการซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage สูงขึ้นเกินกว่าระดับปัจจุบันอย่างมากอย่างต่อเนื่อง

  • สถานะทางการเงินของ GPSC ที่อ่อนแอลงเมื่อพิจารณาเทียบกับความเสี่ยงด้านธุรกิจหลังจากการเข้าซื้อกิจการ
  • อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลด หากอัตราส่วน Secured Debt to EBITDA ของ GPSC เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่องของ GPSC มีความแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีเงินสดจำนวน 4 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 990 ล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องสำหรับการก่อสร้างโครงการใหม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำนเนินงานที่แข็งแกร่งและวงเงินที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 6.5 พันล้านบาท โดยบริษัทจะใช้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 142.5 พันล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการของ GLOW


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ