(เพิ่มเติม1) BA เจรจาพันธมิตรต่างชาติจับมือชิง"ดิวตี้ฟรี"สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา,คาด H2/61 โตรับไฮซีซั่น-เพิ่มเที่ยวบินต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 24, 2018 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) เพื่อสร้างรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน และเห็นแนวโน้มการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ 3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปความร่วมมือภายใน 2-3 เดือน เพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลบริหารพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะเปิดประมูลปีนี้ รวมถึงในท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยบริษัทวางเป้าหมาย 3 ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจดิวตี้ฟรีในสัดส่วน 5% ของรายได้รวม

"เราเข้าธุรกิจดิวตี้ฟรี เพราะเห็นแนวโน้มเติบโต เราหาพันธมิตรต่างประเทศ จะเป็นเข้าร่วมทุน หรือจะเข้ามาบริหารจัดการก็คุยกันอยู่ คิดว่าน่าจะชัดเจนใน 2-3 เดือน...มุมมองเราธุรกิจมีโอกาสอีกเยอะ"นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีที่สนามบินสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงสนามบินอู่ตะเภา (พื้นที่ปัจจุบัน) และ สนามบินหลวงพระบาง หลังจากที่บริษัท บางกอกแอร์เวย์โฮลดิ้ง จำกัด เข้าซื้อกิจการ บริษัท มอร์แกนฟรี จำกัด โดยคาดว่าปีนี้จะยังมีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการพิจารณาเม็ดเงินลงทุนต่อไป โดยในพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินสมุยซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของ ได้เตรียมงบลงทุนปรับปรุงพื้นที่จำนวนกว่า 100 ตร.ม. และงบลงทุนในพื้นที่ดิวตี้ฟรีใหม่หากชนะประมูล

นายพุฒิพงศ์ ยังเปิดเผยอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะดีกว่าครึ่งปีแรก คาดว่าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 70% เพราะบรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรปที่เริ่มกลับมามากขึ้นหลังจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปถือเป็นลูกค้าหลักของ BA หรือมีสัดส่วนมากกว่า 50% ประกอบกับไตรมาส 3 เป็นช่วงวันหยุดของนักท่องเที่ยวยุโรป และในไตรมาส 4 เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2/61 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว คาดว่าจะออกมาต่ำกว่าไตรมาส 1/61 แต่น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 1/61 ผลประกอบการเติบโตชัดเจน Load Factor อยู่ในระดับ 76.4% และยอดจองตั๋วล่วงหน้า 11 เดือน เพิ่มขึ้น 2-3%

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าผลประกอบการในปี 61 จะเป็นไปตามเป้าหมายรายได้เติบโต 7-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท Load Factor เฉลี่ยอยู่ที่ 70.5% และจำนวนผู้โดยสารเติบโต 7% จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสาร 5.94 ล้านคน ขณะที่มองว่ากรณีอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตไม่ได้กระทบกับบริษัท เพราะนักท่องเที่ยวคนละกลุ่มกัน โดยเที่ยวบินไปยังจีนของ BA จะเน้นเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำและกลุ่มลูกค้าเป็นระดับไฮเอนด์

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าธุรกิจการบินในไทยยังมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และมีการตัดราคากันอย่างมาก ทำให้อัตรากำไรสุทธิอ่อนตัวลงมาก ขณะที่แนวโน้มต้นทุนราคาน้ำมันก็สูงขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันอากาศยานจะปรับตัวขึ้นไปถึง 90-100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปัจจุบัน 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 30-35% ของต้นทุนรวม อย่างไรก็ดี บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงประมาณ 50-70% จนถึงสิ้นปีนี้

"ในภาพรวมเราขยายธุรกิจเพื่อหารายได้เพิ่ม เราดูธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเรา เป็นโอกาสที่เราไปต่อยอดไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบินที่อยู่เพื่ออยู่ มาร์จิ้นบางอยู่ เราชูเรื่องคุณภาพ ความมั่นใจการให้บริการ แต่เราก็ Diversify ไปธุรกิจอื่นด้วย"นายพุฒิพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทจะเพิ่มพันธมิตรทางการบิน (Code Share) อีก 1- 2 รายในปีนี้ จากปัจจุบันมี 26 สายการบินซึ่งทำให้บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารพันธมิตรทางการบิน โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) พร้อมทั้งเตรียมลงทุนปรับปรุงระบบสำรองที่นั่ง จากระบบเซเบอร์มาเป็นระบบอมาดิอุส ที่จะช่วยประหยัดต้นทุน และสามารถปรับราคาแข่งขันให้ทันกับคู่แข่ง งบลงทุนใช้ไม่มาก คาดจะเริ่มใช้ระบบใหม่นี้ในไตรมาส 3/61

และยังมีแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่ในตารางฤดูหนาว เส้นทาง ภูเก็ต -ย่างกุ้ง ทำการบิน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มกลางเดือน พ.ย. และเพิ่มเที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพ-เกาะฟูก๊วก เป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จาก 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และกรุงเทพ-ตราด เพิ่มความถี่จาก 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มในเดือน พ.ย.นี้

พร้อมกันนั้น บริษัทจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ 319 อีก 1 ลำในเดือน ต.ค.-พ.ย. และเครื่องบิน ATR 72-600 จำนวน 2 ลำ ทดแทนเครื่องบิน ATR 72-500 ที่จะปลดระวางออกไป ทำให้สิ้นปี 61 ฝูงบินของบริษัทจะมีจำนวนเครื่องบินทั้งสิ้น 40 ลำ

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโรงซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินสุโขทัยนั้น ขณะนี้อยุ่ระหว่างออกแบบให้รองรับเครื่องบิน แอร์บัส เอ320 ได้ 2 ลำ พื้นที่ประมาณ 1 หมื่น ตร.ม. งบลงทุนคาดว่าจะมากกว่า 1 พันล้านบาท รวมถึงอุปกรณ์อะไหล่ด้วย คาดสามารถเปิดบริการในกลางปี 63 ขณะเดียวกันก็จะลงทุนโรงซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยรอ AOT จัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับการซ่อมเครื่องบิน 1 ลำ คาดว่าใช้งบไม่เกิน 1 พันล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินดอนเมืองอยู่แล้ว สามารถซ่อมบำรุงได้ 1 ลำ แต่ไม่เพียงพอในการให้บริการเครื่องบินของบริษัท จึงจำเป็นต้องขยายออกไป โดยบริษัทสามารถทำการซ่อมบำรุงใหญ่ได้เอง จึงช่วยประหยัดงบประมาณในส่วนนี้

นอกจากนั้น ในปี 61 บริษัทคาดใช้งบลงทุนราว 2 พันล้านบาท โดยเป็นการลงทุนครัวการบินที่สนามบินเชียงใหม่ จำนวน 350 ล้านบาท และซื้อเครื่องบิน ATR 72-600 จำนวน 2 ลำ และงบลงทุนปรับปรุงระบบสำรองที่นั่ง

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะมีแผนซื้อหุ้นคืน หลังเห็นราคาหุ้น BA ลงมาต่ำกว่ามูลค่าหุ้น ซึ่งได้มีการหารือเบื้องต้นในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เพราะเงินสดในมือของบริษัทมีมากพอดำเนินการได้ โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 พันล้านบาท คาดว่าจะมีการหารือกันอีกครั้ง เพราะมองว่าธุรกิจการบินได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และ BA ก็มีมูลค่าแฝงอยู่ โดย บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ถือหุ้น BA ที่ 5.93% (เมื่อ 15 มี.ค.61) ขณะที่ BA ถือหุ้น BDMS สัดส่วน 0.85%

ราคาหุ้น BA ปิดภาคเช้าวันนี้อยู่ที่ 12.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.40. บาท (+3.28%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ