รมว.พลังงาน เผยทางการลาวยังไร้สัญญาณชะลอสร้าง"เซเปียน-เซน้ำน้อย"หลังเกิดเหตุเขื่อนดินย่อยแตก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 3, 2018 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลลาวไม่ได้ส่งสัญญาณการชะลอโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว หลังเกิดเหตุเขื่อนดินย่อยแตกจนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมที่จะผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนก.พ.62 โดยปริมาณไฟฟ้าส่วนใหญ่ 354 เมกะวัตต์ (MW) จากกำลังการผลิตทั้งหมด 410 เมกะวัตต์นั้น จะถูกส่งมาขายในประเทศไทย ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงปากเซ เชื่อมต่อมายังสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอุบล 3 ในจ.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยืนยันว่าหากการผลิตไฟฟ้าจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย จะถูกชะลอหรือไม่ถูกชะลอออกไป ก็เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในไทยได้ ส่วนการที่มีข่าวระบุว่าการก่อสร้างโครงการไม่ได้มาตรฐานจนทำให้เขื่อนดินย่อยส่วน D เสียหายนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวต้องตรวจสอบต่อไป ในส่วนของกระทรวงพลังงานไม่ได้ไปก้าวล่วงแต่อย่างใด

อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียน-เซน้ำน้อย ดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ในสัดส่วน 25% ,SK Engineering & Construction Company Limited สัดส่วน 26% , Korea Western Power Company Limited สัดส่วน 25% และรัฐบาล สปป. ลาว 24% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าประมาณ 90% ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีสัญญาขายไฟฟ้า 354 เมกะวัตต์ ให้แก่ กฟผ. ระยะเวลา 27 ปี (ปี 62-89) และอีก 40 เมกะวัตต์ จะผลิตและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าลาว

ด้านนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบเบื้องต้นโครงการดังกล่าวไม่ได้ชะลอการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นในทางเทคนิคโรงไฟฟ้าจะยังเดินเครื่องได้ตามปกติ หลังจากสามารถอุดรอยรั่วเขื่อนดินย่อยส่วน D ที่ได้รับความเสียหายแล้วเสร็จ เพราะการที่เขื่อนดินย่อยดังกล่าวเสียหายนั้น ไม่กระทบต่อเขื่อนหลักที่ใช้รองรับการผลิตไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้ส่งน้ำแนวสูงผ่านท่อยาว 100 เมตรมายังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยปริมาณน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนดินย่อยดังกล่าว ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักลดลงไปไม่มากนัก และยังมีเพียงพอที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าได้ตามสัญญา

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจากลาวที่จะเข้าระบบของกฟผ.ในช่วงปี 62 นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยแล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเงี้ยบ 1 จำนวน 269 เมกะวัตต์ ซึ่งจะ COD ในเดือน ก.พ.62 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ ซึ่งจะ COD ในเดือน ต.ค.62 ขณะที่โครงการน้ำเทิน 1 ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว จำนวน 520 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในวันที่ 23 พ.ค.65

เมื่อรวมกับที่รับซื้อไฟฟ้าจากลาวก่อนหน้านี้รวม 5 โครงการ ได้แก่ ห้วยเฮาะ ,น้ำเทิน 2 ,น้ำงึม 2 ,เทิน-หินบุน รวมส่วนขยาย และหงสาลิกไนต์ มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 3,577.6 เมกะวัตต์ จะทำให้มีโครงการที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากลาวรวมทั้งหมด 5,940.60 เมกะวัตต์ จากที่มีบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) ที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากลาวรวม 9,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 ดังนั้น ปริมาณที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากลาวได้อีก 3,059.40 เมกะวัตต์นั้น ก็คงต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่อไป

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณน้ำที่มากในลาวทำให้โครงการพลังน้ำถูกแจ้งให้หยุดผลิตในช่วงนี้ เพราะเกรงว่าหากมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอีกก็จะกระทบต่อชาวบ้านในบริเวณท้ายเขื่อน โดยโครงการพลังน้ำ น้ำเทิน 2 ซึ่งมี บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เป็นผู้ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยนั้น ก็ถูกให้หยุดผลิตในช่วงนี้ด้วย แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งปีเพราะด้วยปริมาณน้ำที่มากก็จะทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณที่มากขึ้นในระยะต่อไปซึ่งจะเข้ามาชดเชยการหยุดผลิตในช่วงนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ