ADVANC คาดในช่วงปี 61-63 ใช้งบลงทุนขยายโครงข่ายราว 2.5 หมื่นลบ./ปี ก่อน 5G ลงทุนใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 7, 2018 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า การที่บริษัทจะลดวงเงินลงทุนในปีนี้มาที่ 2.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งงบไว้ที่ 3.5-3.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้ต่อรองกับกับซัพพลายเออร์ที่จะขยายระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปได้

และคาดว่าในช่วงนี้ปีนี้จนถึงปี 63 บริษัทจะลงทุนโครงข่ายต่อเนื่องปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท จากปี 59-60 ที่ใช้เงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท และ 4.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ เพื่อลงทุนต่อเนื่องเพื่อให้ได้โครงข่ายที่มีคุณภาพ โดยปัจจุบันมีการครอบคลุมพื้นที่ 98% จนกว่าปี 63 ที่คาดว่าจะมีเทคโนโลยี 5G ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนรอบใหม่

ส่วนการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ต(MHz) และ คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ต นายสมชัย กล่าวว่า ADVANC อยู่ระหว่างพิจารณาโดยมีที่ปรึกษาเข้ามาประเมินว่าบริษัทควรเข้าไปร่วมประมูลหรือไม่ และหากเข้าประมูลจะประมูลด้วยราคาเท่าไร ขณะนี้ยังไม่ทราบผลการตัดสินใจ

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จะกำหนดให้เอกชนยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz

นายสมชัย กล่าวว่า ADVANC มีแผนมุ่งหน้าไปในอีก 3 ปี หรือภายในปี 63 ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อให้ ADVANC ยังคงเป็นผู้นำตลาด (Leadership) สื่อสารที่เป็นธุรกิจหลัก ลงทุนโครงข่ายคลื่น 900/1800/2100 MHz การลงทุนรองรับ 5G ที่กำลังจะมา โดยได้ออกเน็ตเวิร์ค 4.5G และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ NU Mobile ที่เริ่มออกเมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจาก Line Mobile ซึ่งเด่นด้านราคา แต่ NU Mobile จะเน้นคุณภาพมากกว่าราคา และจะให้บริการหลากหลาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอไลเซ่นส์เพื่อเป็น Insurance Broker ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนธุรกิจรองรับในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วยแผน 5 แกนหลัก 1. Full Service Digitization ที่จะสร้างช่องทางรองรับการบริการลูกค้า และการเป็น Mobile Money ซึ่งมี Mpay แล้วไปร่วมมือเป็น Rabbit Line Pay 2. Digital Convergence & Customer Value management โดยจะรวมการบริการมือถือ และ อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ (FBB) เพื่อสร้างรายได้ต่อครัวเรือ(ARPH) เพิ่มขึ้น 3.Enterprise business ขยายธุรกิจในกลุ่มลูกค้าองค์กร ที่จะมีโอกาสใหม่เข้ามา ได้แก่ IoT 4. Network Function Virtualization & Cloudification เป็นการตั้งเป้าย้ายไปสู่ Clound Platform 90%ในอีก 3 ปีข้างหน้า และการเตรียมตัวโครงข่าย 5G และ 5. Organization Transformation ที่จะมีการพัฒนาบุคคลากร

"การเติบโตไม่ได้สูง เพราะจากเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มีการแข่งขันรุนแรงมาก เรายังอยู่ในอุตสาหกรรมที่อิงกับเทคโนโลยี แล้วมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ก็ยังสามารถ Turn Around ได้ เราไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ถูก Disrupt ไปเหมือนกับหลายๆอุตสาหกรรม"นายสมชัย กล่าว

ปัจจุบัน เอไอเอสมีลูกค้า 40 ล้านราย มีส่วนแบ่งการตลาด 48% ของตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ