(เพิ่มเติม1) เลขาฯ กสทช.คาด ADVANC ยื่นเอกสารร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz บ่ายวันนี้ หลัง DTAC ยื่นแล้วเช้านี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 8, 2018 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จะส่งตัวแทนเข้ามายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจากช่วงเช้า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ไปแล้ว

ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประกาศชัดเจนตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz

นายฐากร กล่าวว่า วันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีการเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 น.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DTAC ได้เดินทางมาเพื่อยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลในส่วนของคลื่น 1800 MHz โดยนำเงินประกันมาวางทั้ง 4 ใบอนุญาต แต่ยังไม่ทราบว่าจะเข้าประมูลทั้ง 4 ใบอนุญาตเลยหรือไม่

นอกจากนั้น กสทช. ยังได้รับแจ้งจาก ADVANC ว่าจะเข้ามายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลในเวลาประมาณ 13.00 น. คาดว่าน่าจะเป็นคลื่นความถี่ 1800 MHz เนื่องจาก ADVANC มีคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อยู่แล้วจำนวน 10 MHz

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. จะมีการแถลงข่าวในภาพรวมอีกครั้งในเวลา 16.30 น.

อนึ่ง หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz แบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 MHz ผู้ประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 900 MHz ที่ยังไม่มีผู้ยื่นเข้าประมูลนั้น กสทช.กำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลเป็น 5 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 35,988 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 72 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 1,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ DTAC ระบุเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ว่า ก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลในเงื่อนไขที่ระบุเพิ่มในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ (IM) อันจะส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินงานและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ชนะประมูล โดยประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวระบุให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนั้น กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีจะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของผู้ชนะใบอนุญาตคลื่น 900 MHz


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ