(เพิ่มเติม2) กสทช.คาด ADVANC ยื่นเอกสารร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz บ่ายวันนี้ หลัง DTAC ยื่นแล้วเช้านี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 8, 2018 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จะส่งตัวแทนเข้ามายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจากช่วงเช้า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ไปแล้ว

ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประกาศชัดเจนตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz

นายฐากร กล่าวว่า วันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีการเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 น.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DTAC ได้เดินทางมาเพื่อยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลในส่วนของคลื่น 1800 MHz โดยนำเงินประกันมาวางทั้ง 4 ใบอนุญาต แต่ยังไม่ทราบว่าจะเข้าประมูลทั้ง 4 ใบอนุญาตเลยหรือไม่

นอกจากนั้น กสทช. ยังได้รับแจ้งจาก ADVANC ว่าจะเข้ามายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลในเวลาประมาณ 13.00 น. คาดว่าน่าจะเป็นคลื่นความถี่ 1800 MHz เนื่องจาก ADVANC มีคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อยู่แล้วจำนวน 10 MHz

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. จะมีการแถลงข่าวในภาพรวมอีกครั้งในเวลา 16.30 น.

อนึ่ง หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz แบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 MHz ผู้ประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 900 MHz ที่ยังไม่มีผู้ยื่นเข้าประมูลนั้น กสทช.กำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลเป็น 5 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 35,988 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 72 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 1,800 ล้านบาท

นายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ DTAC ระบุว่า DTAC ได้เข้ายื่นซองประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่ไม่ได้ยื่นซองประมูลในคลื่น 900 MHz เนื่องจากบริษัทมีข้อกังวลใน 2 ประการ คือ การใช้งานคลื่น 900 MHz อาจจะมีการรบกวนกับคลื่น 850 MHz ที่ DTAC มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้บริษัทคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 2 ปี ในการย้ายฐานลูกค้าทั้งหมดที่ใช้งานในคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ไปยังคลื่นความถี่อื่น

ปัจจุบัน DTAC มีผู้ใช้งานในคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz และ 1800 MHz รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนเลขหมาย อีกทั้งมีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ 13,000 สถานีที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นความถี่ในย่านใหม่ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีข้อกังวลต่อเกณฑ์การประมูลที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รายอื่น แม้ว่า กสทช.จะลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท มองว่าไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ซึ่งน่าจะมีความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม หาก กสทช.มีการปรับปรุงเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ให้อยู่ในเงื่อนไขที่ผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ รวมถึง DTAC ยอมรับได้ หรือไม่เป็นภาระมากเกินไป บริษัทก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในคลื่นดังกล่าว

ส่วนการเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในเบื้องต้นคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมประมูลฯ แต่จะประมูลจำนวนใบอนุญาตเท่าใดนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากบริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทกันในอีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวก่อนวันประมูล 19 ส.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ