ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร UMI เป็นระดับ"BB" จากเดิม "BB+"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 9, 2018 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม (UMI) เป็นระดับ "BB" จากเดิมที่ระดับ "BB+" ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าที่คาดและสถานะทางการเงินที่ด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอของบริษัทในธุรกิจกระเบื้อง อย่างไรก็ตาม สถานะอันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากอุปสงค์กระเบื้องภายในประเทศที่อ่อนตัวลงเป็นเวลานานและการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากกระเบื้องนำเข้า ในขณะที่การพิจารณาอันดับเครดิตยังมีการประเมินผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในด้านสภาพคล่องของบริษัทและจากการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ (รีไฟแนนซ์) ด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอ บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอจากการมีตำแหน่งทางการตลาดอยู่ในระดับปานกลาง ตลอดจนมีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ และมีประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนาน บริษัทจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามยอดขายประมาณ 11%-13% บริษัทเน้นทำการตลาดในกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง โดยสินค้าที่บริษัทจำหน่ายนั้นมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปเนื่องจากมีคุณภาพที่ดี

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทได้ถดถอยลงโดยเห็นได้จากยอดขายที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและกำลังการผลิตที่ลดลง ทั้งนี้ บริษัทกำลังพยายามที่จะลดกำลังการผลิตและขั้นตอนปฏิบัติงานต่าง ๆ ลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนต่าง ๆ ให้มากขึ้น

แนวโน้มของตลาดกระเบื้องยังคงย่ำแย่ ธุรกิจของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากวงจรขาลงที่ยาวนานของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุปสงค์กระเบื้องภายในประเทศยังคงหดตัวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุหลักจากตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ซบเซา อีกทั้งผู้ผลิตท้องถิ่นยังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากกระเบื้องนำเข้าด้วย ผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่ต่างก็พยายามขยายธุรกิจไปยังตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อที่จะรักษาระดับการผลิตของตนเอาไว้แม้ว่าจะมีอัตรากำไรที่ลดลงก็ตาม นอกจากนี้ วงจรอุตสาหกรรมที่ตกต่ำยังกระตุ้นให้ผู้ผลิตกระเบื้องต้องเร่งดำเนินมาตรการลดต้นทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งทำการควบรวมกิจการระหว่างผู้ผลิตด้วยกันเองอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดกระเบื้องยังไม่น่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้านี้

ผลการดำเนินงานที่ถดถอยกว่าคาด ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทลดลง เหลือประมาณ 2,500 ล้านบาทในปี 2560 หรือลดลง 11% จากประมาณ 2,800 ล้านในปี 2559 โดยผลการดำเนินงานในครึ่งแรกของปี 2561 ยังคงด้อยลงต่อเนื่อง ยอดขายของบริษัทลดลงประมาณ 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ลดลงเหลือ 7.7% ในปี 2560 และเหลือ 5.5% ในครึ่งแรกของปี 2561 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเหลือ 11.7% ในปี 2560 และ 8.2% ในครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ที่ระหว่าง 15%-21%

ยอดขายสินค้าหลักของบริษัทยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทที่อ่อนแอลงด้วยเช่นกัน บริษัทยังคงมุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูงซึ่งน่าจะมีความต้องการสินค้าและมีกำลังซื้อที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าในตลาดล่าง แต่ทั้งนี้ ขนาดของตลาดที่บริษัทมุ่งเน้นเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งบริษัทยังจะต้องเผชิญกับกระเบื้องนำเข้าโดยเฉพาะจากประเทศจีนที่เข้ามาแข่งขันในตลาดลูกค้าระดับสูงพร้อมด้วยสินค้าที่หลากหลายอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความพยายามในการฟื้นฟูยอดขายของบริษัท

กำไรลดลงจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทน่าจะหดตัวแคบลง โดยสมมุติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าลดลงและจะอยู่ในช่วง 2,300-2,400 ล้านบาทในระหว่างปี 2561-2563 อัตรากำไรน่าจะหดตัวจากการปรับขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตกระเบื้อง โดยต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติคิดเป็นประมาณ 20%-25% ของต้นทุนการผลิต ตามสัญญาซื้อขายนั้น ราคาของก๊าซธรรมชาติจะเคลื่อนไหวตามราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่จะล่าช้ากว่าประมาณ 3-4 เดือน

เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 น่าจะด้อยลงต่อไปอีก โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานน่าจะลดลงและอยู่ต่ำกว่า 6.0% เมื่อเปรียบเทียบกับระดับสูงสุดที่ 11.1% ในปี 2559 เมื่อพิจารณาถึงยอดขายและอัตรากำไรที่ลดลงแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลง

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าสภาพคล่องบนพื้นฐานของงบการเงินรวมของบริษัทนั้นไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้โดยพิจารณาจากกระแสเงินสดที่ลดลงในขณะที่บริษัทมีหุ้นกู้จำนวนมากที่จะครบกำหนดไถ่ถอน จากประมาณการของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทน่าจะลดลงต่ำกว่า 3 เท่าในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมนั้นน่าจะต่ำกว่า 10%

บริษัทมีหุ้นกู้มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในเดือนกรกฎาคม 2562 โดยบริษัทได้วางแผนจะทยอยชำระล่วงหน้าบางส่วนและจะทำการรีไฟแนนซ์สำหรับจำนวนที่เหลือทั้งหมด ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงของบริษัทน่าจะเป็นความท้าทายในการเข้าถึงตลาดการเงินต่าง ๆ ของบริษัทซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงของการรีไฟแนนซ์นั้นสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในการประเมินอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งยังได้พิจารณารวมไปถึงปัญหาหนี้เงินกู้ของ บมจ.ที ที เซรามิค ซึ่งบ่งบอกถึงสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอ บริษัท ที ที เซรามิค ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญมีเงินกู้จากการปรับโครงสร้างหนี้อยู่จำนวน 741 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 59.5% ของเงินกู้รวมทั้งหมดของกลุ่ม) โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 นั้น บริษัทได้เจรจากับธนาคารเจ้าของเงินกู้ต่าง ๆ เพื่อขอลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและการผ่อนชำระเงินต้นลง ซึ่งทางธนาคารได้ตกลงลดอัตราดอกเบี้ยและเงินต้นที่บริษัทต้องผ่อนชำระในปี 2561 ซึ่งทริสเรทติงมองว่าเป็นเพียงการผ่อนปรนชั่วคราวของบริษัท ที ที เซรามิคเท่านั้น ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ที ที เซรามิคน่าจะดำเนินการต่อไปในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ของอันดับเครดิตระดับ "BB" ได้พิจารณาถึงแนวโน้มที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนแอต่อไปอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้าด้วยแล้ว จากประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ต่ำกว่าระดับ 10% และ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นน่าจะลดลงจนอยู่ต่ำกว่า 3 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถฟื้นฟูอัตรากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้โดยอาจจะเกิดจากการฟื้นตัวของยอดขายหรือความสำเร็จของมาตรการลดต้นทุนต่าง ๆ หรือในกรณีที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับเกินกว่า 3 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเกินระดับ 10% เป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากสถานะการเงินของบริษัทด้อยลงไปมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้จนทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ต่ำกว่า 2 เท่าเป็นระยะเวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ