HARN คาดผลงาน H2/61 โตตามปริมาณงานออกมามากขึ้น ตุน Backlog 386 ลบ.รับรู้ปีนี้ 60-70% ,สร้างคลังสินค้าพร้อมใช้งานปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 29, 2018 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัฐ สุขชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่น (HARN) มั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 129.68 ล้านบาท ตามการเติบโตรายได้ที่คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 10-12% จากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ รวมถึงทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 386 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ราว 60-70% ในปีนี้ และคาดว่าจะได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มอีก 70-80 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 3/61

สำหรับทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เพราะปกติแล้วในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของบริษัทที่จะมีการส่งมอบงานจำนวนมาก ขณะที่ปริมาณงานโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน มีทิศทางออกมามากขึ้น โดยรายได้จากระบบดับเพลิงที่มีสัดส่วนอยู่ 42% จะทรงตัวจากปีก่อน รายได้จากเครื่องพิมพ์ดิจิทัล มีสัดส่วนอยู่ 27% คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% รายได้จากระบบเครื่องทำความเย็น มีสัดส่วนรายได้อยู่ 24% คาดว่าจะเติบโต 15% และเครื่องปรับอากาศ มีสัดส่วนรายได้อยู่ 6% คาดว่าจะเติบโต 2-3%

อีกทั้ง บริษัทยังมองโอกาสงานโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่คาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของบริษัทไปได้อย่างน้อย 5-10 ปี รวมไปถึงส่วนของโครงการรถไฟฟ้าและสนามบิน ซึ่งถือเป็นโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของบริษัท ประกอบกับมีนโยบายขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นในกลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) ซึ่งบริษัทเตรียมที่จะตั้งสาขาเพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการ 2-3 สาขา ในประเทศ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 62

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าอัตรากำไรสุทธิจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 10% สูงกว่าปีก่อนที่ 9.97% โดยบริษัทจะเน้นการบริหารจัดการด้านบุคลากร และระบบไอที เข้ามาช่วยลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการ โดยบริษัทได้ตั้งบลงทุนราว 150 ล้านบาท เพื่อที่จะก่อสร้างคลังสินค้าขนาด 5-6 ไร่ ซึ่งจะสรุปแผนทั้งหมดในปีนี้และก่อสร้างทันที พร้อมคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในช่วงไตรมาส 2/62 ซึ่งคลังสินค้าดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลง จากเดิมที่เช่าคลังสินค้าอยู่ 3 แห่ง และประหยัดค่าเช่าคลังสินค้าราว 6 ล้านบาท/ปี

นายวิรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้ร่วมงานกับบริษัทผู้พัฒนาระบบไอที ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า แต่เรื่องของการลงทุนต่อนั้น บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาในแนวทางที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุน (JV) ,การเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรืออาจจะเป็นแนวทางอื่น ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ