SPCG คาดรายได้ปี 63 แตะ 1 หมื่นลบ.สัดส่วนจาก ตปท.ราว 25-30% สรุปแผนลงทุนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 3 โครงการใน Q4/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 30, 2018 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปี 63 โดยในส่วนนี้ประมาณ 25-30% จะมาจากรายได้ต่างประเทศ หลังล่าสุดมุ่งขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีโครงการร่วมทุนอยู่แล้ว 1 โครงการ กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เมืองทอตโตะริ ซึ่งเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่อยู่ระหว่างรอสรุปร่วมทุนอีก 3 โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของบริษัทไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนที่ดีที่สุด และรายละเอียดการลงทุนที่คาดว่าจะสรุปได้ภายในไตรมาส 4/61

เบื้องต้นบริษัทได้ประกาศการร่วมลงทุนไปแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ ณ เกาะ Ukujima เมืองนางาซากิ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปสัดส่วนการร่วมทุนกับพันธมิตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้และแล้วเสร็จใน 4 ปีจึงจะรับรู้รายได้เข้ามา

และ โครงการโซลาร์ฟาร์ม ณ เมืองฟูกุโอกะ ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่งการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/61 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปีครึ่ง หรือในช่วงปี 62-63 ก็จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามา

ส่วนอีก 1 โครงการเป็นโซลาฟาร์ม ขนาด 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองนางาซากิ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุน คาดว่าจะสรุปผลได้ภายในไตรมาส 4/61

"เรา target ที่จะใช้เงินสำหรับทั้ง 3 โครงการไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท เราจะสรุปทีเดียวพร้อมทั้งทำแผนจัดหาแหล่งเงินทุนน่าจะเสร็จในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน"นางวันดี กล่าว

นางวันดี กล่าวว่า บริษัทยังได้ทำโครงการทดลองร่วมกับ Kyushu University ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ขนาด 2 เมกะวัตต์ และมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ขายในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (พีค) ซึ่งจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเดิม โดยโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 160 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 1/62 ซึ่งหากผลการทดลองประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสที่จะนำมาพัฒนาโครงการในประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต

สำหรับการขยายการลงทุนประเภทโซลาร์ฟาร์มในภูมิภาคนี้บริษัทก็ให้ความสนใจเช่นกัน อย่างในเวียดนามที่มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโซลาร์ฟาร์มค่อนข้างมาก แต่ยังติดขัดเรื่องการลงทุนจะต้องร่วมกับพันธมิตรในเวียดนาม ซึ่งบริษัทต้องการรอดูความชัดเจนที่มากขึ้น อีกทั้งในช่วงนี้บริษัทก็จะเน้นให้ความสำคัญกับประเทศหลักอย่างญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก

ส่วนในประเทศไทยนอกจากจะมีโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 36 แห่งที่ COD เรียบร้อยแล้ว บริษัทยังเป็นผู้รับติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกค้าด้วย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ดังกล่าวราว 2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 50-60 เมกะวัตต์ จากตลาดรวมที่มีอยู่ราว 100 เมกะวัตต์ ซึ่งสัดส่วนรายได้จากโซลาร์รูฟท็อปคิดเป็นราว 25% ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังมาจากโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศ ขณะที่ปีนี้เพิ่งจะเริ่มรับรู้โซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในญี่ปุ่นเพิ่มเติมเข้ามา

นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทยังศึกษาการลงทุนในธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO) ที่จะติดตั้งระบบโซลาร์รูฟและขายไฟฟ้าให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่สามารถใช้พลังงานได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ส่วนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างชุมชน โดยผ่านเทคโนโลยี Blockchain นั้น นับเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างเฝ้าติดตามต่อเนื่อง

"ตอนนี้เรากำลังมี Business Model ใหม่ การติดตั้งโซลาร์รูฟอาจจะเป็น ESCO Energy Service Company คือแบบ ตั้งขึ้นมาไปติดโซลาร์รูฟ คนที่ไม่มีวัตถุประสงค์การลงทุน ก็จะได้ใช้พลังงานที่ถูกกว่า"นางวันดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ