ANAN มองผลประกอบการ H2/61 ดีกว่า H1/61 ตามการโอนโครงการ หลังตุน Backlog 5.46 หมื่นลบ. ยันทั้งปีตามเป้า 3.8 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 21, 2018 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บมจ.อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าในปีนี้จะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามเป้าหมายที่ 38,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 10,599 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) รวม 54,600 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลังเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ราว 27,400 ล้านบาท มาจากโครงโอนโครงการต่อเนื่องในโครงการ ASHTON จุฬา-สีลม, ASHTON อโศก และในช่วงไตรมาส 3/61 จะมีการเริ่มโอน UNIO รามคำแหง เสรีไทย ในขณะที่ไตรมาส 4/61 จะสามารถเริ่มโอนโครงการได้จำนวนมาก ASHTON สีลม ,IDEO MOBI สุขุมวิท 66 ,IDEO พหลโยธิน จตุจักร,IDEO สุขุมวิท 93

สำหรับยอดขายปีนี้ก็ยังคงเป้าหมายที่ 35,120 ล้านบาท โดยจะมาจากโครงการคอนโดมิเนียมจะเป็นสัดส่วน 87% และโครงการแนวราบ 13% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทเตรียมเปิดโครงการทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่ารวม 15,552 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/61 บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 6 โครงการ มูลค่ารวม 8,694 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการ IDEO รัชดา-สุทธิสาร มูลค่า 1,600 ล้านบาท โครงการ Elio สาทร-วุฒากาศ มูลค่า 3,400 ล้านบาท โครงการ Unio Town ศรีนครินทร์-บางนา มูลค่า 824 ล้านบาท โครงการ Unio Town สวนหลวง-พัฒนาการ มูลค่า 618 ล้านบาท และสุดท้ายคือโครงการ Airi พระราม 2 มูลค่า 1,023 ล้านบาท ส่วนในไตรมาส 4/61 บริษัทเตรียมเปิดอีก 3 โครงการ มูลค่า 6,858 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทยังคงแผนการใช้เงิน 10,000 ล้านบาท ในการซื้อที่ดินเพื่อที่จะรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐบาลมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของโครงข่ายรถไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตตามแนวรถไฟฟ้า ส่งผลให้โอกาสการเติบโตของบริษัทยังมีอีกมาก

อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการดูแลอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1 เท่า โดยใช้กลยุทธ์การร่วมลงทุน โดยจะเห็นเพิ่มขึ้นอีกในโครงการอื่นๆ และจะเห็นว่าที่ผ่านมาบริษัทรักษาระดับ D/E ไว้ที่ 1.56 เท่า เพื่อที่จะไม่ให้ภาระหนี้สินมากเกินไป โดยจากการโอนโครงการจำนวนมากในช่วงครึ่งปีหลังจะทำให้ในช่วงปลายปี D/E ลดลงต่ำกว่า 1 เท่า

ขณะที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นปี 62 จึงส่งผลให้ทิศทางการบริโภคในประเทศ และการจับจ่ายใช้สอยต่างๆปรับตัวดีขึ้นด้วย ในส่วนของกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์จากต่างประเทศก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย

นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับการร่วมลงทุนกับบมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA) เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้มีการพูดคุยกันมาระยะหนึ่ง ซึ่งฝ่ายบริหารของทั้ง 2 บริษัท มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าศักยภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความร้อนแรง และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยผู้ที่มีเงินอยู่แต่ไม่มีที่จะลงทุนก็นำเงินดังกล่าวเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดีลนี้มีการลงทุนในพื้นที่ศักยภาพหลัก 3 โครงการ โดยในอนาคตอาจจะมีการร่วมลงทุนในแบบนี้อีก

"เราไม่ได้ร้อนเงิน อย่างที่หลาย ๆ คนว่า แต่เราร่วมมือกันที่จะทำโครงการร่วมกัน เพราะเรามีความคิดที่ไปในทางเดียวกันว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพ และภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความร้อนแรง และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า"นายชัยยุทธ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ