รมว.พลังงาน ยัน PTTEP เสนอตัวเข้าถือหุ้นแหล่งบงกช-เอราวัณในส่วน 25% ของภาครัฐได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 26, 2018 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เริ่มเปิดซองข้อเสนอการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) จำนวน 1-3 ซอง จากที่ยื่นทั้งหมด 4 ซอง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าผู้เข้าร่วมประมูลเป็นผู้ดำเนินการ (operator) ทั้ง 2 รายคือกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และกลุ่มเชฟรอน น่าจะมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

ขณะที่ในส่วนซองที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนนั้น ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถเสนอรายชื่อหน่วยงานรัฐได้โดยตรง ซึ่งในส่วนของ PTTEP ให้นับว่าเป็นหน่วยงานรัฐสามารถเสนอชื่อตัวเองเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้

"ซองที่ 2 ให้เอกชนกำหนดเลยว่าจะเสนอหน่วยงานรัฐถือใคร และถือเปอร์เซนต์เท่าไหร่ ส่วนเราจะให้ใครถือเป็นสิทธิของรัฐบาลซึ่งครม.จะเป็นผู้ดูในส่วนนี้ ปตท.สผ.ก็ถือว่าเป็นหน่วยงานรัฐ เป็นรัฐวิสาหกิจ...คุณสมบัติของหน่วยงานรัฐที่จะเข้าร่วมลงทุนนั้นต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป อย่างน้อยที่สุดต้องมีความมั่นคงด้านการเงินเพราะผู้ลงทุนนี้จะต้องจ่ายเงินลงทุนด้วย ไม่ได้ถือหุ้นลม คาดว่าหน่วยงานรัฐจะต้องมีเงินลงทุน 2.5 แสนล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า"นายศิริ กล่าว

อนึ่ง ตามเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณ ครั้งนี้ กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน 25% ภายใต้หลักการการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 25%

นายศิริ กล่าวว่า ในวันนี้ (26 ก.ย.) คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1-3 ได้แก่ ซองเอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ,ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานรรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน และซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการแผนงานการสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม

และจะส่งมอบเอกสารทั้ง 3 ซองให้แก่คณะทำงานพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีทั้งหมด 3 ชุด เพื่อพิจารณาแต่ละซอง ซึ่งจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือในราวเดือนปลายเดือน ต.ค.จะพิจารณาแล้วเสร็จ นำเสนอผลต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิฯ และคณะกรรมการปิโตรเลียมต่อไป

หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือน พ.ย.61 คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิฯจะเปิดซองข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งเป็นเอกสารด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย และนำเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมเพื่อพิจารณาเสนอชื่อผู้ได้รับคัดเลือกในแต่ละแปลงต่อรมว.พลังงาน เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปลายเดือนธ.ค.61 และคาดว่าจะลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ที่ได้รับคัดเลือกในแต่ละแปลงได้ภายในเดือน ก.พ.62

รมว.พลังงาน ยืนยันว่า การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใส ชัดเจน และมีคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ และผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 รายก็รับรู้ข้อมูลทุกอย่างตรงกัน ดังนั้น จึงไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างกัน

สำหรับการเปิดประมูลครั้งนี้มีเพียงผู้ประกอบการรายเดิม 2 รายที่เข้ายื่นประมูลแม้จะมีผู้ให้ความสนใจเข้ามามากก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากข้อมูลศักยภาพพื้นที่ปิโตรเลียมของไทยที่อาจจะมีการสำรวจและผลิตที่ยากกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเบื้องต้นประเมินว่าแหล่งบงกชและเอราวัณ ปัจจุบันมีแท่นผลิต 278 แท่น คาดว่าน่าจะต้องรื้อถอนออกไปราว 50-60 แท่น และเก็บไว้ 220 แท่น และมีการประเมินว่าจะต้องสร้างแท่นผลิตใหม่อีกราว 150 แท่นเพื่อรองรับปริมาณการผลิตใหม่ตามเงื่อนไขที่ทั้ง 2 แหล่งจะต้องพิจารณารวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในช่วงเวลา 10 ปีหลังหมดอายุสัมปทานปี 65-66 ราว 1.1 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับภาครัฐราว 8 แสนล้านบาท หรือราว 8 หมื่นล้านบาท/ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี

"ทุกคนที่เข้ามาแข่งขันก็ยินดีแข่งขันภายใต้เงื่อนไขนี้ ฉะนั้น ไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบเมื่อเราเปิดเผยชัดเจน ทุกคนก็ต้องแข่งขันในพื้นฐานเดียวกัน"นายศิริ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ