JMART คาด Q4/61 พลิกมีกำไรสุทธิรับไฮซีซั่น-คงเป้าทั้งปีใกล้เคียงปีก่อน, ปี 62 ฟื้นโตหลังปรับโครงสร้าง-ขายหุ่นยนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 11, 2018 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท (JMART) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ และการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ Apple ปลายปีนี้ ที่จะเข้ามากระตุ้นยอดขาย หลังจากไตรมาส 3/61 มีสต๊อกสินค้าคงค้างค่อนข้างมาก เละกำลังซื้อชะลอตัว ทำให้มีผลขาดทุนในสต๊อกที่เหลือ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะดำเนินการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติงบไตรมาส 3/61 ในช่วงกลางเดือนพ.ย.61

บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในปี 61 จะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.32 หมื่นล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกสามารถทำรายได้ไปแล้ว 6.49 พันล้านบาท แต่มีผลขาดทุนสุทธิ 142.72 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1/61 มีการตั้งสำรองจากบริษัทลูก ได้แก่ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ผู้ประกอบการธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และบมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) ผู้ประกอบการเช่าซื้อ รวมถึงไตรมาส 3/61 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นและยังมีสต๊อกสินค้าคงค้างค่อนข้างมาก

ขณะที่บริษัทยังเดินหน้าขยายสาขาร้านเจมาร์ท และเจคาเมร่า อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการรวม 206 สาขา และช่วงที่เหลือของปีนี้จะทยอยเปิดอีก 10 สาขาในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก วางงบลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งจะส่งผลให้ภายในสิ้นปี 61 มีสาขาเปิดให้บริการรวม 216 สาขา

นายอดิศักดิ์ คาดรายได้และกำไรสุทธิในปี 62 จะเติบโตมากกว่าปีนี้ จากการปรับโครงสร้างธุรกิจเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับ บริษัทมีแผนนำหุ่นยนต์สื่อสารเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย หลังจากที่มองตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันเริ่มมีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) บางลง และการแข็งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติแผนการดำเนินงานของปีหน้าในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.61

ล่าสุด บริษัทได้ร่วมมือกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ ฟีโบ้ (FIBO) และบริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ลงนามความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ UBTECH ผู้นำทางการผลิตหุ่นยนต์ระดับโลก เพื่อผลักดันนโยบายภาครัฐพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นการผนึกกำลังนำพาประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ฟีโป้จะเป็นสถาบันที่จะศึกษาความเป็นไปได้ และหารือกับ UBTECH และเจมาร์ท, จันวาณิชย์ ที่ตะนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรมภาษาไทย คาดว่าจะสามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ในช่วงต้นปี 62 โดยบริษัทจะเป็นตัวแทนจำหน่ายหลักในประเทศไทย ปัจจุบันได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้า เช่น โรงพยาบาล โรงภาพยนต์ โรงเรียน และร้านค้ารีเทล เป็นต้น เชื่อว่าจะสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในอนาคต

สำหรับราคาขายโดยเฉลี่ยจะขึ้นอยู่กับขนาดและความสามารถในการใช้งาน หากเป็นขนาดใหญ่จะมีราคาขายเฉลี่ยขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อตัว ส่วนขนาดกลางที่ใช้ในร้านค้าทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อตัว และขนาดเล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมการศึกษา โรงพยาบาล จะเริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาทต่อตัว เบื้องต้นคาดการณ์ยอดขายในช่วงปีแรกไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นตัว และใน 5 ปีข้างหน้า จะมียอดขายหุ่นยนต์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1-3 แสนตัวต่อปี โดยบริษัทฯ มองว่าสินค้าดังกล่าวจะมีมาร์จิ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30-40%

"เรามองเห็นถึงแนวโน้มการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการใช้โทรศัพย์มือถือที่ในอดีตราว 20 ปีก่อนมีการจำหน่ายเพียง 2 แสนเครื่อง ในปัจุบันขายได้มากกว่า 20 ล้านเครื่องของทั้งอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทดแทนบุคลากรในองค์กร และเพื่อเป็นการลดต้นทุนบุคลากรลง ซึ่งคิดเป็นกว่า 20-30% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายรวม แต่คงไม่สามารถทดแทนแรงงานคนได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในส่วนงานมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีเราคาดยอดขายหุ่นยนต์ในปีแรกประมาณหมื่นตัว และ 5 ปีจากนี้จะมียอดขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1-3 แสนตัวต่อปี"นายอดิศักดิ์ กล่าว

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากการนำหุ่นยนต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศแล้ว ภายในกลุ่มบริษัทเองก็จะนำเอา Robotics และ AI มาใช้งาน เช่น หุ่นยนต์ในหน้าร้านของเจมาร์ท หรือร้านค้าพันธมิตรในกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งการนำเอาเทคโนโยลีทางด้าน Robotics และ AI เข้ามาพัฒนา ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของกลุ่มบริษัทเจมาร์ท โดยเจมาร์ท เป็นผู้นำทางด้านการค้าปลีกที่ได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีทั้งทางด้านฟินเทคและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีทางด้านเทคโนโลยี

อีกทั้ง กลุ่มบริษัทเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้าสู่โลกของ Robotics และ AI ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมทั่วโลกที่เริ่มเปลี่ยนทิศทาง ภายใต้การขับเคลื่อนของการปรับระบบดำเนินงานให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things : IoT สอดรับความต้องการผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เจมาร์ทจึงมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้พันธมิตรระดับประเทศอย่างฟีโบ้ และ UBTECH ผู้นำระดับโลกทางด้านการผลิตหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายนี้ และมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานทุกอย่างให้เป็นสากล

ด้านนายชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม FIBO เปิดเผยว่า FIBO จะเป็นผู้สนับสนุนทางด้านเทคนิคการผลิตหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ทดสอบความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และสามารถนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และนำเอาหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้ให้เกิดผลอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ