ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ STA ที่ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 26, 2018 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของปลายน้ำ และประสบการณ์อันยาวนานของคณะผู้บริหารในธุรกิจ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรและความผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศผู้นำเข้ายางธรรมชาติ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความแข็งแกร่งในการแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่เกิดจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก บริษัทมีเครือข่ายของแหล่งวัตถุดิบที่กว้างขวาง และมีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากปริมาณส่งออกของยางธรรมชาติทั่วโลกอยู่ในช่วง 9%-12% ในช่วงปี 2556-2560 และเท่ากับ 10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561

บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติให้แก่ผู้ผลิตยางรถยนต์ที่มีชื่อเสียง เช่น บริดจสโตนและกู๊ดเยียร์ เป็นต้น โดยมียอดส่งออกต่อปีคิดเป็น 80%-85% ของปริมาณขายยางธรรมชาติ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกหลักยางธรรมชาติของบริษัทคือประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 52%-58% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ส่วนประเทศอื่นในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น คิดเป็นประมาณ 28%-37% ของปริมาณส่งออก

กลยุทธ์ใหม่ซึ่งเน้นการทำกำไร อัตรากำไรของบริษัทค่อนข้างต่ำและผันผวนตามราคายางธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริษัทสามารถลดความเสี่ยงจากผลกระทบด้านลบดังกล่าวได้บางส่วนโดยการทำสัญญาตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (รวมการกลับรายการของค่าเผื่อสำหรับผลขาดทุนของสินค้าคงเหลือและกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 0.22%-3.57% ในช่วงปี 2556-2560 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ระหว่าง 579-3,109 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน

ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา บริษัทมีการใช้กลยุทธ์ใหม่ที่เน้นการทำกำไรจากสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เช่น ถุงมือยางและน้ำยางข้น เป็นต้น ดังนั้นอัตรากำไรของบริษัทจึงสูงขึ้นเป็น 6.75% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 อัตรากำไรที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,534 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 จากเดิมที่ 1,228 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นและคงอยู่ที่ระดับ 5%-6% ในระหว่างปี 2561-2564 นอกจากนี้ การเติบโตจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์และสภาวะเศรษฐกิจโลกจะช่วยสนับสนุนให้แนวโน้มของบริษัทเป็นไปในทิศทางบวก

โครงสร้างเงินทุนอยู่ในสถานะที่ยอมรับได้ หนี้เงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 25,272 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 ลดลงจากระดับ 32,306 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2560 ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทปรับตัวลดลง และบริษัทไม่ได้มีการใช้เงินลงทุนจำนวนมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 50.35% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 เมื่อเทียบกับ 47%-61% ในช่วงปี 2558-2560

จากสมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วงค่อนข้างกว้างตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2564 ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 800 ล้านบาท ถึง 2,700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2564 โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปยางแท่งและโรงงานผลิตถุงมือยาง

ทั้งนี้ ระดับภาระหนี้ของบริษัทที่ปรับตัวลดลงและกำไรจากตราสารอนุพันธ์ราคายางจะส่งผลกระทบทำให้เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2561-2564 คาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.0-5.0 เท่า เมื่อเทียบกับ 0.8-2.8 เท่า ในปี 2558-2560 นอกจากนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 10.5%-12.5% ในช่วงปี 2561-2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 0.4%-8.1% ในช่วงปี 2558-2560

สภาพคล่องของบริษัทยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเกือบ 60% ของหนี้เงินกู้รวมของบริษัท หรือ 14,349 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งเป็นเงินกู้ยืมสำหรับสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและอยู่ในความต้องการของตลาด สามารถขายเพื่อนำมาชำระหนี้ของบริษัทได้

บริษัทมีเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2562-2564 เท่ากับ 1,200-3,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3,223 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินทุนหมุนเวียนที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกมากกว่า 20,000 ล้านบาทจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งซึ่งสามารถช่วยให้บริษัทจัดการภาระหนี้ที่จะครบกำหนดได้ จากสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2564 ตามกลยุทธ์ในการขายแบบเลือกสรรและการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือที่ดีขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้เนื่องจากบริษัทปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ซึ่งเน้นสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารหรือรักษาสภาพคล่องไว้มากพอและคาดว่างบดุลของบริษัทยังคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่บริษัทสามารถประสบความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการทำกำไรจนสามารถลดความเสี่ยงด้านเครดิตลงได้ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคายางธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงเป็นระยะเวลานาน ระดับการก่อหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นของบริษัทก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ