BJC ลุ้นรายได้ปีนี้โตทะลุเป้า 7-9% หวังมาตรการรัฐหนุนใช้จ่ายปลายปีคึกคัก,เตรียมออกหุ้นกู้ 3.8 หมื่นลบ.ในปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 30, 2018 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรามี บีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมั่นใจรายได้ปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 7-9% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.64 แสนล้านบาท โดยมาจากการเติบโตในทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจค้าปลีก BIGC ธุรกิจแก้วกระป๋อง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจเวชภัณฑ์เทคนิค

ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกภายใต้ BIGC มียอดการเติบโตของสาขาเดิม (SSSG) ในช่วง 9 เดือนแรกที่ 0.9% คาดว่าทั้งปีจะยังเป็นบวก จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้รับปัจจัยบวกจากภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ช็อปช่วยชาติ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ยอดขายของบริษัทเติบโตขึ้น

สำหรับแผนการขยายสาขา BIGC ปี 61 แบ่งเป็นสาขาขนาดใหญ่ Hypermarket จำนวน 8 สาขา Market 1 สาขา และ Mini BigC 150 สาขา ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ส่วนปี 62 วางแผนเปิดสาขา Hypermarket 8 สาขา เป็นในประเทศไทย 7 สาขา และในกัมพูชา 1 สาขา , Market 1 สาขา และ Mini BigC 300 สาขา โดยสาขาที่เป็น Hypermarket 300 ล้านบาทต่อสาขา และ Mini BigC 4.5 ล้านบาทต่อสาขา

ส่วนธุรกิจแก้วกระป๋อง คาดว่าจะมีความต้องการต่อเนื่อง และล่าสุดบริษัทได้เปิดเดินเครื่องเตาหลอมแก้วโรงผลิตแห่งที่ 5 กำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน จากเดิม 3,025 ตันต่อวัน ด้านธุรกิจอุปโภคบริโภคมองว่าจะขยายตัวได้ดี จากการที่บริษัทได้มีการออกผลิตภัณฑืใหม่อย่างต่อเนื่อง และในเดือน ธ.ค. ยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ เทสโต้รสไข่เค็ม และธุรกิจเวชภัณฑ์เทคนิค มองว่าจะมีการเติบโตในระดับที่ดีเช่นกัน ซึ่งตามปกติช่วงไตรมาส 4/61จะเป็นช่วงที่ภาครัฐมีการใช้งบประมาณทางการแพทย์จำนวนมาก

นายรามี กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ 19.1% โดยบริษัทได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีรวมไปถึงยอดขายในแต่ละธุรกิจมีการเติบโตได้ดี

ในส่วนของแผนการดำเนินงานปี 62 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. นี้ แต่เบื้องต้นบริษัทคาดว่าผลประกอบการจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามกการขยายตัวของทุกธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายสาขาของ BigC

นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมออกหุ้นกู้ในปี 62 ราว 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนทางการเงินที่เฉลี่ยที่ในระดับ 3% โดยจะแบ่งการเสนอขายออกเป็น 2 ช่วง คือในเดือน มี.ค.มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท และเดือนก.ย.มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยที่ 1.5 แสนล้านบาท มีระดับอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 1.37 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ