KTBS รุกตลาดหนักในปี 62 เปิดตัวบลจ.ใหม่คลอดกองทุนรวม-กอง REITs -IB ลูกค้าในมือ 4-5 ราย-ออกแพลตฟอร์มใหม่ให้ลูกค้าโบรกฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 18, 2018 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBS รุกตลาดหนักในปี 62 หลังทยอยได้รับใบอนุญาตมากกว่า 8 ใบอนุญาต เปิดตัวบลจ.วี เริ่มประเดิมกองแรกในม.ค.62 พร้อมออกกอง REITs แบบไม่มีสปอนเซอร์ในไตรมาส 1/62 ส่วนธุรกิจ IB มีลูกค้าในมือ 4-5 ราย ด้านธุรกิจโบรกเกอร์เตรียมพร้อมรับมือการแข่งขันหลังมองแนวโน้มวอลุ่มเทรดปี 62 วูบลงมาที่ 3 หมื่นล้านบาท/วันจาก 5 หมื่นล้านบาท/วันในปี 61 และเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่"Social trading" มิติใหม่การลงทุนมีกูรูแนะนำใกล้ชิด ส่วนความคืบหน้านำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นเตรียมยื่นไฟลิ่งต้นเดือน ม.ค.62

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรก่อนหักภาษีในปี 62 อยู่ที่ 158 ล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้ารายได้ที่ 1.4 พันล้านบาท สูงขึ้นกว่าปี 61 ที่ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 76.7 ล้านบาท และมีรายได้อยู่ที่ 1.07 พันล้านบาท โดยกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 62 ของบริษัทจะเดินหน้ารุกตลาดมากขึ้น หลังจากที่บริษัทได้ทยอยรับใบอนุญาตในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุนเข้ามา

ทั้งนี้ ในเดือนม.ค. 62 บริษัทจะดำเนินงานธุรกิจกองทุนรวม ภายใต้ บลจ.วี ซึ่งจะเริ่มออกกองทุนรวมกองแรกเสนอขายในช่วงเดือนม.ค. 62 พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ซึ่งจะมีการออกกองทรัสต์ที่ไม่มีสปอนเซอร์ในช่วงปลายไตรมาส 1/62 จำนวน 1-2 กอง ซึ่งบริษัทมีความตั้งใจในการจัดตั้งกองทรัสต์แบบไม่มีสปอนเซอร์เพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุนของเจ้าของสินทรัพย์ และต้องการให้กองทรัสต์มีสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย และกระจายไปในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกันงานด้านวาณิชย์ธนกิจ (IB) ยังจะมีจำนวนลูกค้ามากขึ้นจากปี 61 โดยเฉพาะการนำลูกค้าของบริษัทเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่ปลายปี 61 บริษัทเพิ่งเริ่มนำลูกค้าเสนอขาย IPO และเข้าตลาดจำนวน 2 ราย ได้แก่ บมจ.ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER) และบมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ (STI)

โดยในปี 62 จะมีดีล IPO ที่เตรียมเสนอขายและเข้าตลาด จำนวน 4-5 ราย เป็นธุรกิจที่กระจายกันหลากหลายอุตสาหกรรม ขนาดของธุรกิจราว 1 หมื่นล้านบาท/ราย แม้ว่าช่วงนี้ภาวะตลาดหุ้นไม่ค่อยดีนัก แต่บริษัทมองว่าลูกค้ายังมีความตั้งใจที่ต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจ จึงไม่มีผลชะลอและตัดสินใจเข้าตลาดของลูกค้าแต่อย่างใด

ด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ในปี 62 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) เป็น 1.25 แสนล้านบาท จากปีนี้มี 1 แสนล้านบาท และตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เพิ่มเป็น 3 พันล้านบาท จากปีนี้ที่ 2 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจนี้จะเป็นกลุ่มของลูกค้าที่มีสินทรัพย์และการลงทุนกับบริษัทตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มลุกค้า High Networth ของบริษัท ซึ่งการขยายมูลค่าสินทรัพย์ของลูกค้าจะมีการแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ พร้อมกับการที่บริษัทมีใบอนุญาตใหม่ๆที่สามารถเปิดให้บริการได้ จะช่วยให้มีผลิตภัณฑ์ต่างๆมานำเสนอกับลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันให้กับธุรกิจ

สำหรับธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage) ในปี 62 ถือว่ามีความท้าทายค่อนข้างมาก เพราะมองว่าจะเป็นปีที่ทั้งอุตสาหกรรมโบรกเกอร์จะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เป็นผลมาจากมูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ในปี 62 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาท/วัน ใกล้เคียงกับมูลค่าการซื้อขายในช่วง 3 เดือนนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 61) ที่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมาของปี 61 ที่เฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งปกติภาวะมูลค่าการซื้อขายของตลาดที่ลดลงไปมากแบบนี้จะส่งผลให้ธุรกิจโบรกเกอร์ต้องมีการแข่งขันเพื่อดึงลูกค้าเข้ามามากขึ้น

ทำให้ในปี 62 จึงเป็นปีที่มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นการลดค่าคอมมิชชั่นจากโบรกเกอร์หลายรายเกิดขึ้นอีก ทำให้มีโอกาสที่ค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยในอุตสาหกรรมจะปรับลดลงได้อีก จากปัจจุบันที่ค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.09% ซึ่งในส่วนของบริษัทจะไม่ไปแข่งขันด้านการลดค่าคอมมิชชั่นเพื่อดึงลูกค้าเข้ามา แต่จะไปเน้นที่การเพิ่มบริการต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกและให้ความรู้ พร้อมกับการแนะนำลงทุนกับลูกค้า

นายวิน กล่าวว่า ในปี 62 จะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ชื่อว่า "Social trading" ที่นำกูรูที่บริษัทคัดเลือกเข้ามาช่วยแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า และพร้อมที่จะเปิดพอร์ตการลงทุนให้กับลูกค้าได้ดูและซื้อ-ขายตามได้พร้อมๆกัน โดยจะมีจำนวนกูรูในช่วงแรกที่คัดเลือกเข้ามา 10-20 คน ซึ่งจะเน้นไปที่กูรูที่มีพอร์ตการลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเกินไปนัก หรือไม่เกิน 1 ล้านบาท/คน เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าของบริษัททุกรายได้มีโอกาสลงทุนตามได้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่จะมีการให้คำแนะนำในรูปแบบนี้อย่างเปิดเผย

ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนบัญชีลูกค้าที่ Active อยู่ทั้งหมด 7,000 บัญชี และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ใช้บริการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ผ่านมาร์เก็ตติ้งเป็นหลักสัดส่วน 60-70% และค่าคอมมิชชั่นของบริษัทยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในระดับมากกว่า 1% ทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีค่าคอมมิชชั่นอยู่ในระดับต่ำ

นายวิน ยังกล่าวว่า แผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ซึ่งคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงต้นเดือนม.ค. 62 โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 16 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท/หุ้น ระดมเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์ในการเสนอขาย IPO จะนำมาใช้เพื่อรองรับสภาพคล่องของธุรกิจ และนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆของบริษัท

ภายหลังจากการเสนอขาย IPO แล้ว สัดส่วนการถือหุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ กลุ่ม KTB Investment &Securities (เกาหลีใต้) จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมาอยู่ที่ 55% จากปัจจุบันที่ 70% นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมาเป็น 13% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ที่ 30% ซึ่งยังคงถือหุ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นเดิม และจะมีบุคคลอีก 6 คน เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินแก่นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ เพื่อนำมาลงทุนในบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ซึ่งรายชื่อบุคคลทั้ง 6 คน จะปรากฎในไฟลิ่ง ซึ่งหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วรวมเกือบ 1 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่ 670 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เห็นการกลับมาฟื้นตัวขึ้นของภาพรวมของผลการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่พลิกกลับมามีกำไรได้ และมีกำไรสะสมในปัจจุบันที่ 70-80 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการวางแผนก้าวขึ้นเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ที่ให้บริการที่มีความหลากหลาย ซึ่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 62-66) บริษัทวางเป้าหมายสัดส่วนรายได้ปรับเปลี่ยนไปเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 50-60% จากปัจจุบันที่ 33% โดยการรุกธุรกิจวาณิชธนกิจ การบริหารจัดการสินทรัพย์ของลูกค้า และการบริหารและเสนอขายกองทุนรวม เป็นต้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ที่มีการแข่งขันที่สูง ซึ่งจะมีผลให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโบรกเกอร์ลดลงมาอยู่ที่ 30-40% จากปัจจุบันที่ 49%

"ผมเข้ามาทำธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะอยากสร้างแพลตฟอร์มหลักทรัพย์ที่ไม่เคยเห็นเกิดขึ้นที่ไหนในประเทศมาก่อน ซึ่งทางเกาหลีเขาก็อยากเห็นแบบที่ผมอยากเห็น ซึ่งทางเกาหลีเขาถือเป็นบริษัทการเงินที่ยิ่งใหญ่ ต้องการเข้ามาขยายในอาเซียน ซึ่งเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะช่วยเขาสร้างชื่อเสียงได้"นายวิน กล่าว

*แนวโน้มลงทุนปี 62 เป็นไปตามศก.ชะลอตัว

นายชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 61 ถือเป็นปีที่มีความผันผวนในทุกด้าน ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน เนื่องจากภาวะความเสี่ยงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นและจากความสัมพันธ์ที่แย่ลงระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่นำไปสู่สงครามการค้า ทำให้มุมมองเศรษฐกิจโลกในปี 61 คาดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งภาพของเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 62 นั้นจะเคลื่อนไหวภายใต้ 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ การเจริญเติบโตในอัตราที่ถดถอยลง (From increasing to diminishing) ภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองอันนำมาซึ่งความเสี่ยงที่แน่นอน (The uncertainty in uncertain) และการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว (Monetary policy tightening)

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 62 มาที่ระดับ 3.7% จากผลกระทบของสงครามการค้าที่ดึงให้ดุลการค้าทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอ ซึ่งการปรับลดประมาณการดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ปี 62 จะยังคงเป็นปีที่สภาพคล่องในตลาดโลกนั้นยังคงลดลงในอัตราเร่งตัวเมื่อเทียบกับปี 61 ประกอบกับการเปลี่ยนทิศทางของการใช้นโยบายการเงินที่มีแนวโน้มเป็นนโยบายหดตัวของประเทศต่างๆที่มากยิ่งขึ้น

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปี 62 ได้มีการปรับประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จาก 4.25% สู่ระดับ 3.9% มาจากการชะลอตัวของความต้องการใช้ในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกและการค้าขายทั่วโลก ซึ่งกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อจากนี้จะมาจากดีมานด์ในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 33.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 63 คาดว่าจะอยู่ที่ 33.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า 2 ครั้ง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ 2.25%

ส่วนการลงทุนในปี 62 แนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังมากกว่าปี 61 โดยกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมจะเป็นการลงทุนผ่านสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ (Quality investment) และการเลือกการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่การจำกัดการขาดทุนหรือความเสี่ยงด้านขาลง (limited downside risk) เช่น การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs หรือ Property fund) การลงทุนในหุ้นที่มีโครงสร้างรายได้ที่ชัดเจน มีการเติบโตที่ยั่งยืน ตลอดจนมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจเลือกลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีโครงการจ่ายผลตอบแทนที่มีการจำกัดหรือลดทอนความเสี่ยงไว้ (Structure Note) พร้อมกับคาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงไตรมาสที่ 1/62 จะอยู่ที่ 1,750 จุด จากสิ้นปีนี้ที่ 1,650 จุด โดยแนะนำให้เลือกหุ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มค้าปลีก ที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินการที่ดีกว่าตลาดโดยรวมจากอานิสงส์การเลือกตั้งตลอดจนนโยบายช่วยเหลือภาครัฐ

นอกจากนี้หากนักลงทุนมีโอกาสลงทุนในต่างประเทศมองว่าตลาดหุ้นในต่างประเทศมีความน่าสนใจที่จะเข้าลงทุน เช่น ตลาดหุ้นจีน และตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ในปีนี้ได้ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 20% และทำให้มูลค่าของตลาดในตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นลดลงมาอยุ่ในระดับที่ถือว่าถูก และหากประเด็นสงครามการค้ามีความชัดเจนและคลี่คลายมากขึ้นจะเป็นแรงหนุนหลักให้กับตลาดหุ้นจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหุ้นในเอเชียที่มีการปรับตัวลดลงแรงมากในปีนี้ อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นในเอเชียที่ให้ระมัดระวังในการเข้าไปลงทุนในปี 62 คือ ตลาดหุ้นอินเดีย เพราะทางรัฐบาลอินเดียมีแผนที่จะนำเงินทุนสำรองต่างประเทศไปใช้ชำระหนี้ ซึ่งอาจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทุนสำรองของประเทศอินเดียที่ลดลงไปมาก ทำให้ประเทศอินเดียมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ