TOP คาด GIM ปี 62 สูงกว่าปีนี้ จาก GRM ดีขึ้นตามดีมานด์น้ำมันเพิ่ม ,มีแผนซ่อมบำรุงฉุดกลั่นน้ำมันลด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 25, 2018 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 62 บริษัทคาดการณ์กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันไว้ที่ระดับ 8.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาด 6.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากค่าการกลั่น (GRM) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 4.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ขณะที่มีการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ด้านส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากปีนี้ หลังจะมีกำลังการผลิตใหม่ในตลาดโลกทยอยเข้าระบบ แต่ความต้องการใช้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับปีหน้าอัตราการใช้กำลังการกลั่นจะลดลงมาอยู่ที่ราว 103% จากระดับ 111-112% ในปีนี้ หลังมีแผนหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันมากกว่าในปีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ปีหน้าบริษัทยังเดินหน้าแผนเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต (productivity improvement) เพื่อเพิ่มมาร์จิ้นต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน โดยวางเป้าหมายจะเพิ่มมาร์จิ้นได้ราว 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 62 จากปีนี้ที่ทำได้ราว 1.25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่คาดจะทำได้ 1.5 พันล้านบาท หรือประมาณ 50 เซนต์สหรัฐ/บาร์เรล

"ปีหน้าเราคาดการณ์ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปน่าจะเติบโตประมาณ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน ประมาณ 1% นิดๆของ total demand ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มคิดว่า capacity ของโรงกลั่นเกิดขึ้นน้อยกว่าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้คาดว่าน้ำมันสำเร็จรูปน่าจะตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ supply ก็เริ่มเห็นชัดในด้านของน้ำมันดิบที่โอเปกและนอนโอเปกจะลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะช่วยพยุงราคาน้ำมันกลับมาได้"นายอธิคม กล่าว

นายอธิคม กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วงนี้น่าจะเป็นเพียงระยะสั้น หลังรับ Sentiment จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และกรณีการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นขณะที่ซัพพลายมีจำกัด ก็คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 62 จะอยู่ที่ราว 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ย 69.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ต่อเนื่องเพราะมีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันโดยรวม

สำหรับในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่า GIM ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน จะอยู่ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ GRM อยู่ที่ 4.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากในไตรมาส 3/61 ที่มี GIM อยู่ที่ 7.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ GRM อยู่ที่ 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดย GRM ที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากสเปรดของราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบลดลงมากในรอบนับสิบปีเหลืออยู่ราว 2-3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปกติที่มีสเปรดจะอยู่ในระดับสองหลัก เกิดจากภาวะโอเวอร์ซัพพลายตามฤดูกาลด้วย แต่ในอนาคตผลิตภัณฑ์เบนซินก็มีโอกาสที่จะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ด้านสเปรดผลิตภัณฑ์ PX กับแก๊สโซลีน 95 สูงขึ้นมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 540 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาเบนซินที่อยู่ระดับต่ำ ขณะที่ราคา PX สูงขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่เลื่อนการเข้าสู่ตลาดโลก ส่งผลให้ GIM รวมในไตรมาส 4/61 แม้จะอ่อนตัวลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตามด้วยราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่อ่อนตัวลงในช่วงนี้ โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.จนถึงปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 59.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับราคาปิดสิ้นปี 60 อยู่ที่ 61.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานในปี 61 อาจจะมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันบ้างเล็กน้อย

สำหรับภาพรวมในปี 61 คาดว่าจะมียอดขายรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ลดลงจากระดับ 3.37 แสนล้านบาทในปี 60 จากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่กำไรจะปรับลดลงจาก 2.49 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้วที่นับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากมาร์จิ้นที่ลดลง

ส่วนในปี 62 คาดการณ์ว่าสเปรด PX จะอยู่ที่ 360 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากเฉลี่ย 380 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีนี้ เป็นผลจากกำลังการผลิตใหม่จะทยอยเข้าระบบทั้งจากซาอุดิอาระเบีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และจีนจะเข้าระบบ รวมประมาณกว่า 3 ล้านตัน/ปี แต่ความต้องการใช้ PTA และ PET ยังเติบโตค่อนข้างมากตามเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นายอธิคม กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 62-66) ในวงเงิน 5.16 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประมาณ 90% หรือราว 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project :CFP) ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบัน ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการในปี 66

ส่วนที่เหลืออีกราว 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคหลายโครงการ รองรับการทำโครงการ CFP ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปัจจุบัน ได้แก่ การปรับปรุงท่าเรือเพื่อให้สามารถรับเรือได้เพิ่มขึ้น และลดความแออัดของท่าเรือ ,สร้างถังน้ำมันดิบเพิ่มเติม เพื่อสามารถรองรับน้ำมันดิบที่มีคุณภาพหลากหลายได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำมันให้เข้าสู่กระบวนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การย้ายสำนักงานเพื่อให้มีพื้นที่ว่างคงเหลือบริเวณโรงกลั่นน้ำมัน รองรับการทำโครงการ CFP โดยจะเป็นการใช้เงินลงทุนรวมสำหรับในปี 62 ที่ระดับ 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดคงเหลือของบริษัทที่มีอยู่ราว 6-7 หมื่นล้านบาท และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกหุ้นกู้อีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอรองรับการลงทุนจนถึงช่วงปี 63 ที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเติม ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้หุ้นกู้สกุลบาท 32% , หนี้เงินกู้บาท 19% ส่วนที่เหลือ 49% เป็นหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับโครงการ CFP ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์น้ำมัน และเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันจะเป็นการอัพเกรดน้ำมันเตาไปเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซลมากขึ้น โดยจะไม่มีผลผลิตน้ำมันเตาที่มีมาร์จิ้นต่ำออกมาเลยจากปัจจุบันที่มีน้ำมันเตาอยู่ราว 7% ขณะที่น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล จะเพิ่มเป็น 70% จากเดิม 60% ขณะที่น้ำมันเบนซินจะมีสัดส่วนลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แนวโน้มการใช้จะลดลงจากการที่มีรถ EV เข้ามามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นมองว่าแนวโน้มไทยอาจจะต้องมีการนำเข้าน้ำมันเครื่องบินในช่วงปี 65 จากความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นของภาคการท่องเที่ยว หลังไทยจะขยายพื้นที่สนามบินมากขึ้น โดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภา แต่หากโครงการ CFP ของบริษัทแล้วเสร็จก็ทำให้ไทยอาจไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเครื่องบินได้อีกอย่างน้อย 5-10 ปี

นายอธิคม กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ มูลค่า 651 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CFP นั้น ปัจจุบันได้เจรจากับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทแกนด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) นั้นเพื่อให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดเพื่อให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งโครงการ CFP จะต้องแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการในปี 66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ