BLS มองภาพรวม SET ช่วง H1/62 ผันผวนจากปัจจัยตปท. ก่อนปรับดีขึ้นใน H2/62 มองดัชนีทั้งปี 1,817 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 21, 2018 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 62 ยังคงมีความผันผวนอยู่ จากความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ส่งผลทำให้นักลงทุนที่จะลงทุนในหุ้นมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากขาดความเชื่อมั่น โดยแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น การลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ในสัดส่วน 40% ,ทองคำ 5%, ถือเงินสด 5% และที่เหลือลงทุนในหุ้น 50% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดการลงทุนในหุ้นลง จากปี 60 ที่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นในสัดส่วนสูงถึง 70%

โดยทั้งปี 62 มองดัชนีอยู่ที่ 1,817 จุด บนคาดการณ์ P/E ที่ระดับ 15.8 เท่า และกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่เติบโต 7.2% หรือคิดเป็น 117.7 บาท/หุ้น เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ใน SET100 ยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งกำไรมีการเติบโตต่อเนื่อง, หุ้นกลุ่มแบงก์ เริ่มเห็นกำไรดีขึ้น จากรับผลบวกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตามก็คาดหวังการลงทุนภาคเอกชนไทยในโครงการต่อเนื่องจากภาครัฐ, กลุ่มท่องเที่ยวก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในปีหน้า จากตัวเลขเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยรวมปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน

พร้อมกันนี้หุ้นที่น่าลงทุนแนะนำหุ้นกลุ่มคอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ เช่น SAWAD, MTC, KTC, AEONTS โดยคาดการณ์ว่ากำไรของกลุ่มดังกล่าวจะเติบโตมากกว่า 20% ในปี 62 และหุ้นกลุ่มแบงก์ จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น, กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น WHA, AMATA อีกทั้งแนะเพิ่มน้ำหนักในการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล และท่องเที่ยว เนื่องจากเชื่อว่าปีหน้าไม่ได้เป็นปีที่แย่กว่าปีนี้ และเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากส่วนไหน จะยังให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มอง AOT, CENTEL และกลุ่มปิโตรเคมี เช่น IVL, PTTGC รวมถึงกลุ่มคอมเมอร์ซ เช่น CPALL, CPN

ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน ได้แก่ หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมาตรการควบคุบคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธปท. ทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่เติบโตลดลง อาจส่งผลต่อยอดซื้ออสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงตามไปด้วย และหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อจบการเปิดประมูล โครงการต่างๆก็จะชะลอตัว

"ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปีหน้า มองว่ายังคงมีความผันผวนอยู่ จากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสงครามการค้าฯ ซึ่งเรามองว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในต้นปีหน้า อีกทั้งยังมีเรื่องของราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง การดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งทำให้ภาพของตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกผันผวน แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น"

ขณะที่คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยในปีหน้าจะเติบโต 4% ลดลงจากปีนี้ที่คาดเติบโต 4.2% เนื่องจากสงครามการค้าจะกดดันการส่งออกและท่องเที่ยว โดยคาดส่งออกปีหน้าจะเติบโต 6.4% ลดลงจากปีนี้ที่คาดเติบโต 8.7% ส่วนปัจจัยบวกที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออก ซึ่งสิ่งที่ต้องติดตามดูกันต่อ คือในเรื่องของความชัดเจนสงครามการค้าฯ และเศรษฐกิจสหรัฐ และจีนที่ชะลอตัวลง รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงด้วย

"ปัจจัยในประเทศปีหน้าไม่มีอะไรน่ากังวลมาก มองการเลือกตั้ง อาจจะได้รัฐบาลผสม ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนรอดูคือ การผลักดันนโยบายของภาครัฐ"

นายชัยพร กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 62 ทางมอร์แกน สแตนเลย์ ธนาคารชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐ ได้ประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะอยู่ที่ 3.8% จากปีนี้ที่ 3.9% จากผลกระทบสงครามการค้าฯ ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 0.19% จากคาดการณ์สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนบางประเภท ไม่เกิน 25% และจีนจะปรับขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ไม่เกิน 15% ส่วนในกรณีที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนทุกประเภท ไม่เกิน 25% จะกระทบกับ GDP โลก ลดลง 0.49% อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าว ถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดเกิดความกังวล ส่งผลทำให้นักลงทุนไม่เชื่อนักวิเคราะห์ ที่คาดการณ์เศรษฐกิจจะเติบโต แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 63

นอกจากนี้ในปี 62 คาดหวังว่าสหรัฐฯ จะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรก โดยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และน่าจะเห็นค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับค่าเงินในเอเชีย และคาดหวังการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียยังมีการขยายตัวได้ดี (ไม่รวมญี่ปุ่น) คาดจะเติบโต 6.2% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดเติบโต 6.2% และค่าเงินเอเชียมีโอกาสแข็งค่าขึ้น เนื่องจากรัฐบาลกลุ่มเอเชียมีการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จากหนี้สาธารณะของเอเชีย เมื่อเทียบกับ GDP โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ทำให้ยังมีช่องว่างในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก ซึ่งค่าเงินที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอาจมีผลต่อตลาดหุ้น โดยมองว่าตลาดที่จะมีเงินไหลกลับเข้าไป ได้แก่ ฮ่องกงและอินเดีย

สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของธปท. มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจมากนัก แม้ปีหน้าจะขึ้นอีก 0.25% เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก และตลาดรับรู้ประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้ว

https://youtu.be/KUyjZRcYa4w


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ