BCPG เจรจากลุ่มนิคมฯร่วมพัฒนาโซลาร์รูฟท็อป 4 MW ชัดเจนปีนี้,ตั้งเป้าลงทุนพลังงานลม 1,000 MW ใน 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 15, 2019 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ retail ซึ่งเป็นการทำตลาดกับผู้บริโภครายย่อยผ่านการทำโซลาร์รูฟท็อป ในส่วนของพันธมิตรนิคมอุตสาหกรรมนั้นคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ หลังการเจรจามีความคืบหน้าเบื้องต้นจะดำเนินการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรรม กำลังการผลิตไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ (MW)

ก่อนหน้านี้ บริษัทเปิดตัวโครงการแรกร่วมกับพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์อย่าง บมจ.แสนสิริ (SIRI) ในโครงการ T77 ขนาดกำลังการผลิตราว 600 กิโลวัตต์ (KW) เริ่มมีการซื้อขายไฟฟ้าแล้วเมื่อเดือนส.ค.61 และโครงการที่ 2 ที่ดำเนินการในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขนาด 12 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มซื้อขายไฟฟ้าได้ในอีก 6-8 เดือนข้างหน้า

"เรายังมีอีกหลาย project ต่อจากโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้คุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในปีนี้ก็น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการ T77 การซื้อขายไฟฟ้าในปัจจุบันยังเป็นการขายจากบริษัทไปยังลูกค้าจำนวน 4 ราย ได้แก่ คอมมูนิตี้มอลล์ ,โรงเรียน ,คอนโดมิเนียม และโรงพยาบาลฟัน โดยยังไม่ได้เป็นการซื้อขายระหว่างกันเองของลูกค้าผ่านอินเตอร์เน็ตแบบ Peer-to-Peer trading เนื่องจากยังต้องรอให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สรุปหลักเกณฑ์และการกำหนดอัตราค่าใช้บริการสายส่งระบบจำหน่าย (Wheeling Charge) ออกมาก่อน รวมถึงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการอ่านมิเตอร์ ที่หากมีการซื้อขายระหว่างกันก็จะเป็นในรูปแบบของสมาร์ทมิเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) เพื่อร่วมมือกับ SIRI เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในโครงการที่พักอาศัยของ SIRI จำนวน 30 โครงการ ภายใน 3-5 ปีเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 2-5 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีเฉพาะโครงการ T77

ส่วนการพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปใน มช.นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6-8 เดือน ก็จะเริ่มสามารถแลกเปลี่ยนไฟฟ้าภายในอาคารที่อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ โดยผ่านสายส่งที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนให้ภายในมหาวิทยาลัย ทำให้การแลกเปลี่ยนไฟฟ้าดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรออัตรา Wheeling Charge จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่ในอนาคตหากการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มช.มีเหลือ และจะส่งไฟฟ้าออกไปย่านเศรษฐกิจนอกบริเวณมช. ในลักษณะ Peer-to-Peer trading ก็จำเป็นต้องใช้สายส่งของกฟภ. ซึ่งต้องรอการกำหนดอัตรา Wheeling Charge ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ BCPG มีพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ จากออสเตรเลีย เป็นพันธมิตร โดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยนำแนวคิดการจัดการธุรกรรมผ่าน Smart Contract ชั้นนำระดับโลกอย่าง Blockchain มาใช้

นายบัณฑิต กล่าวว่า ในอนาคตบริษัทก็จะร่วมมือกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ เพื่อต่อยอดการดำเนินโครงการไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย

ด้าน Ms. Jemma Green Co-founder & Chair ของ พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมองโอกาสการขยายงานร่วมกับ BCPG ไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงในเวียดนาม ลาว เป็นต้น โดยปัจจุบันการดำเนินการยังเป็น 2 รูปแบบคือการจำหน่ายไฟฟ้าโดยผ่านสายส่ง อย่างในโครงการ T77 และการจำหน่ายไฟฟ้าโดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบสายส่งของภาครัฐ อย่างโครงการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ในอนาคตรูปแบบการดำเนินการอาจจะมีการนำแบตเตอรี่มาใช้กักเก็บพลังงานร่วมด้วย เพื่อจะได้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเจ้าของโครงการพลังงานสะอาด รวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย

สำหรับในประเทศไทยยังมองโอกาสการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) มากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ราว 3,000 เมกะวัตต์ และตามร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ ปี 2561-2580 คาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปราว 500 เมกะวัตต์/ปี

นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมองโอกาสที่จะนำเสนอรูปแบบธุรกิจผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น จากล่าสุดปัจจุบันนำเสนอรูปแบบของ Peer-to-Peer trading แต่ในอนาคตอาจจะมีเรื่องการบริหารจัดการพลังงาน , การประหยัดพลังงาน (demand respond) เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทก็มีโอกาสจะเติบโตได้ตามร่างแผน PDP ดังกล่าวที่จะให้มีกำลังการผลิตโซลาร์ภาคประชาชนตลอดแผนรวม 10,000 เมกะวัตต์ หรือราว 500 เมกะวัตต์/ปี โดยคาดหวังว่าจะมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตในส่วนนี้ราว 10-50% ขณะที่บริษัทได้ตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) ราว 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ ที่ปัจจุบันดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าใน 2 รูปแบบ ได้แก่ wholesale ที่เป็นรูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้าขายเข้าระบบ ทั้งในส่วนของพลังงานลม ,โซลาร์ ,พลังงานใต้พิภพ และอื่น ๆ และ retail ซึ่งเป็นทำตลาดกับผู้บริโภครายย่อย ผ่านการทำโซลาร์รูฟท็อปในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ

ตลอดจนการลงทุนในดีลเข้าซื้อกิจการ (M&A) ต่าง ๆ ด้วย โดยล่าสุดบริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้ายื่นข้อเสนอซื้อกิจการของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด (SPP1) จาก บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภทพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) และจะนับเป็นโครงการแรกประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล จากปัจจุบันที่มีเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แต่ในส่วนของโครงการโกลว์ เอสพีพี 1 ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงนั้น ก็นับว่าเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดเช่นกัน

"เราก็จะเข้าไปลองดูว่าเป็นอย่างไร gas business ก็เป็นอะไรที่มองอยู่ แต่ก็อยู่ในขั้นต้นมาก ๆ การจะเข้าไปใน sector gas ก็มีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ หลายราย แต่ถ้าพูดถึง green เราเป็นเจ้าใหญ่ ถ้าจะข้ามเส้นไปก็ต้องดูให้ดี ถ้าจะทำก็ต้องให้ได้ scale หรือเข้าไปอยู่ในบางส่วนของ value chain ที่เรายังขาดอยู่ กระบวนการของเอสพีพี 1 คงใช้เวลาตอนนี้เราก็แค่ส่งเรื่องให้เขาว่าเราสนใจ แต่ก็อาจจะถอนก็ได้ยังไม่รู้"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวด้วยว่า บริษัทมีแผนการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจพลังงานลม ที่บริษัทตั้งเป้าลงทุน 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี และยังมีโครงการในธุรกิจ digital energy ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับพันธมิตรอีกหลายโครงการด้วยเช่นกัน

อนึ่ง ปัจจุบัน BCPG มีลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมราว 60 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ (MW) ที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และการร่วมลงทุนในบริษัท เพโทรวินด์ เอเนอร์ยี จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์

ส่วนกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นขอเอกสารประกอบการเชื่อมต่อสายส่ง (Grid Connection Application) ภายในวันที่ 31 ส.ค.62 หากดำเนินการไม่ทันจะถูกลดราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed -in-Tariff (FIT) เหลือ 21 เยน/หน่วยนั้น บริษัทมีโครงการที่เข้าข่ายนโยบายดังกล่าวเพียงโครงการเดียว คือ โครงการโรงไฟฟ้ายาบูกิ (Yabuki) กำลังการผลิตติดตั้ง 27.9 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทขอยืนยันว่า สามารถดำเนินการยื่นขอเอกสารได้ทันตามเวลาที่กำหนด นโยบายดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ