(เพิ่มเติม) บล.กรุงศรี เผยปี 62 มุ่งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อมรุกงาน IB เน้น IPO ใหญ่-มาร์เก็ตแชร์โบรกฯไม่ต่ำกว่า 3%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 14, 2019 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดมการ อุดมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า กลยุทธ์ธุรกิจในปี 62 จะมุ่งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับการลงทุนแบบครบวงจรผ่านช่องทางดิจิทัล โดยมีการขยายความร่วมมือกับกลุ่มฟินเทคเพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและขยายฐานลูกค้าให้เติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ

โดยกลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ มีการขยายธุรกิจนักลงทุนสถาบันและวาณิชธนกิจ ในช่วงปี 58-61 บริษัทมีอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยที่ 9% ต่อปี ขณะที่ด้านธุรกิจสถาบัน ส่วนแบ่งตลาดมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 20% ต่อปี และรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของธุรกิจสถาบันมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 40% ต่อปี

ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ซึ่งเริ่มรุกอย่างจริงจังในปี 60 พบว่ามีปริมาณธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 12 บริษัท และปี 61 มีจำนวน 4 บริษัท โดยบริษัทได้เป็นผู้ร่วมรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นที่เสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 15 บริษัท สำหรับในปี 62 มีดีลที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 2-5 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้ มี 2 บริษัทที่ บล.กรุงศรีเป็นแกนนำในการประกันการจัดจำหน่าย

นายอุดมการ กล่าวอีกว่า ในปีนี้คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจจะเพิ่มเป็น 10% จากระดับ 5-6% ในปีก่อน ซึ่งจะมีทั้งดีลที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO รวมถึงเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ที่ในปีนี้จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ทั้งหมดที่จะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ราว 2-3 ดีล

ด้านส่วนแบ่งตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปีนี้ วางเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 3% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.31% หรือก้าวขึ้นมาติด 1 ใน 15 ของอุตสาหกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจะเน้นขยายบริการทั้งกลุ่มรายย่อยและสถาบัน ด้วยกลยุทธ์ปรับปรุงคุณภาพบทวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ทั้งนักลงทุน พร้อมทั้งขยายธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มนักลงทุนสถาบันผ่านบริการที่เหนือกว่า และพัฒนาระบบพื้นฐานออนไลน์เพื่อส่งเสริมธุรกิจ โดยตั้งเป้าเพิ่มบัญชีใหม่ 5,000-6,000 บัญชี จากที่มีอยู่ 40,000-50,000 บัญชีในปัจจุบัน เป็นบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว 18,000 บัญชี

ขณะที่กลยุทธ์ด้านดิจิทัล แพลตฟอร์ม บริษัทยังคงเดินหน้าต่อด้วยการมุ่งพัฒนา Ecosystem ของระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ Application Programming Interface (API) เพื่อรวมระบบการซื้อขายทุก ๆ ผลิตภัณฑ์การลงทุนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียว มีการปรับโครงสร้างทีมอีบิสซิเนส และนำกระบวนการทำงานในรูปแบบ Agile เข้ามาใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ในเวลาอันสั้น รวมทั้งการรวบรวมบทวิเคราะห์ และเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินลงทุนและเพิ่มพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น Finnomena ด้านการจัดพอร์ตการลงทุน Deepscope ด้าน Algorithm StockRadars ด้านข้อมูลประกอบการลงทุน

บล.กรุงศรี จะเป็นแกนกลางในการนำแพลตฟอร์มด้านการลงทุนมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ในที่เดียว รวมทั้งแพลตฟอร์มด้านการลงทุนที่ทางบริษัทจะได้มีการพัฒนาขึ้นเองโดยการอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกบริษัท นับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ด้านนายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,900 จุด โดยเชื่อว่าหลังจากที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว การลงทุนของภาครัฐก็น่าจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่หลังจากการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นเรื่องของการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะทำให้การบริโภคในประเทศแข็งแรง

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางเงินทุนไหลเข้า โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีเงินทุนไหลเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ด้วยการเมืองในประเทศที่เริ่มนิ่ง การบริโภคในประเทศขยายตัว และคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% นอกจากนี้เชื่อว่าประเทศจีนจะเร่งใช้นโยบายทั้งการเงิน และการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ให้ยังมีการเติบโตที่ดี เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองกรณีสงครามทางการค้าได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับมายังประเทศจีน และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีน และสหรัฐ, การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าในครึ่งปีแรกจะไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่ในครึ่งปีหลังจะต้องมาติดตามจะต้องติดตามการส่งสัญญาณว่าจะเป็นอย่างไรอีกครั้ง

สำหรับกลุ่มหุ้นที่แนะนำ คือ กลุ่มค้าปลีก ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐที่ส่วนใหญ่จะเป็นการกระตุ้นการบริโภคเป็นจุดแรก โดยแนะนำหุ้น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ,บมจ.โรบินสัน (ROBINS) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หากประเทศจีนเริ่มมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะช่วยให้มีแรงซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอีกครั้ง แนะนำหุ้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) กลุ่มท่องเที่ยว ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มกลับมา และเชื่อว่าปีนี้จะเป็นอีกส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แนะนำหุ้น บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือธนารคารพาณิชย์ที่ได้ประโยชน์จากการปล่อยกู้ให้กับการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แนะนำหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ