PTT คาดการณ์ปี 62 ราคาน้ำมัน 60-70 เหรียญฯ ค่าการกลั่นสิงคโปร์-ราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 22, 2019 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท. (PTT) คาดการณ์ทิศทางพลังงานในปี 62 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น โดยตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 100.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชียและจีน ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สำหรับภาวะอุปทานล้นตลาดคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และพันธมิตร (โอเปกพลัส)

และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 61 เนื่องจากภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันเบนซินจะยังคงเป็นปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1/62

ส่วนราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์และกลุ่มอะโรเมติกส์ในปี 62 มีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 61 โดยราคาโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) คาดว่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 1,120-1,130 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน โดยมีแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ส่วนราคาโพลีโพรพิลีน (PP) เฉลี่ยคาดว่าอยู่ที่ 1,160–1,170 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน โดยมีอุปทานใหม่จากมาเลเซียกดดันราคา ในส่วนของราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ มีแรงกดดันจากกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่ขึ้นใหม่ในจีน โดยราคาพาราไซลีน (PX) คาดว่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 940-950 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนราคาเบนซีน (BZ) เฉลี่ยคาดว่าอยู่ที่ 650-660 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จากอุปทานส่วนเกินของ BZ ที่ยังคงสูงในปี 62

สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศปี 61-65 ลดลง 0.3% แต่ระยะยาวความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศปี 61-80 (PDP2018) จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมจาก PDP2015 ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเริ่มทยอยเข้ามาในระบบตั้งแต่ปี 67 ทำให้ภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซในภาคไฟฟ้าปรับสูงขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า จาก 37% ในปี 79 ตามแผน PDP2015 เป็น 53% ในปี 80 ตามแผน PDP2018 เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเข้ามาในระบบได้ตามแผน

ทั้งนี้ ปตท.มีโครงการลงทุนเพื่อรองรับสร้างความมั่นคงด้านระบบก๊าซฯ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างสร้างท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 จากระยองไปไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ มีความคืบหน้าโครงการ 56% ,การสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ซึ่งการดำเนินการส่วนขยายของคลัง LNG แห่งแรก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผลิตก๊าซฯเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี จะพร้อมเปิดดำเนินการภายในปี 62 ส่วนคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี มีกำหนดส่งก๊าซฯภายในปี 565 ส่วนแผนงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) มีนโยบายเน้นการขายก๊าซฯแบบ Wholesale ส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนสถานีบริการ และปรับลดสถานีที่ห่างจากแนวท่อก๊าซฯ

สำหรับแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯในปี 62 ได้แก่ โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 1 ลดกำลังการผลิต 15% ช่วง ม.ค.-มี.ค.62 เป็นเวลา 45 วัน , โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ลดกำลังการผลิต 50% เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ ช่วง พ.ค. 62 เป็นเวลา 10 วัน ลดกำลังการผลิต 20% เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ ช่วง พ.ค. 62 เป็นเวลา 10 วัน และปิดซ่อมบำรุง ช่วง มิ.ย. 62 เป็นเวลา 6 วัน ส่วนโรงแยกก๊าซฯ อีเทน ปิดซ่อมบำรุง ช่วง ก.ย.62 เป็นเวลา 15 วัน

ทั้งนี้ ประมาณการราคาก๊าซฯ/LNG สำหรับ Asian Spot LNG ในปี 62 อยู่ที่ 7.7-8.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู จาก 9.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปี 261 จากอุปทานเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์เติบโตช้า ส่วน Henry Hub ในปี 2562 อยู่ที่ 2.8-3.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู จาก 3.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปี 61 จากภาวะอากาศเย็นและปริมาณคงคลังอยู่ในระดับต่ำ และอุปทานใหม่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

สำหรับในปี 61 ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท ลดลง 11.5% จากปีก่อน และมีรายได้จากการขายจำนวน 2,336,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% จากปีก่อน โดยรายได้เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจเมื่อเทียบกับปีก่อน ตามราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 53.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2560 เป็น 69.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2561 หรือคิดเป็น 30.53% และจากราคาปิโตรเคมีเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

โดยในปี 61 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 351,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นโดยในปี 60 มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ จำนวนประมาณ 18,505 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท. ดำเนินการเองและที่ดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยกเว้นธุรกิจ NGV

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลงตามกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) ที่ลดลงจากขาดทุนสต๊อกน้ำมันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากใน ไตรมาสที่ 4/61 ในขณะที่ในปี 2560 มีกำไรสต๊อกน้ำมัน นอกจากนี้ธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟินส์ที่มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงสิ้นปี 61 เนื่องจากความกังวลต่ออุปสงค์จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ว่าปริมาณขายโดยรวมเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจน้ำมันที่ผลการดำเนินงานลดลงจากผลขาดทุนสต๊อกน้ำมัน ในขณะที่ปี 60 มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน

ทั้งนี้ ในปี 61 ค่าเสื่อมราคาของกลุ่ม ปตท. เพิ่มขึ้นจากการซื้อสัดส่วนเพิ่มเติมในโครงการบงกชของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท. สผ. รวมถึงมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภาษีเงินได้จากการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจน้ำมัน ในขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครบวงเงินแล้ว ประกอบกับ กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน

สถานะการเงินของบริษัทของปตท. และบริษัทย่อย ณ สิ้นปี 61 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 2,355,484 ล้านบาท โดยเป็นที่ดินอาคารและอุปกรณ์ทั้งสิ้น 1,114,174 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 1,036,989 ล้านบาท เป็นส่วนของหนี้สิ้นที่มีดอกเบี้ย 543,634 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 1,318,495 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ