รฟท.นัดกลุ่มซีพี 5 มี.ค.รับทราบปฏิเสธข้อเสนอใหญ่ 12 ข้อ และให้คำตอบเจรจาต่อหรือไม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 22, 2019 18:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ว่า คณะอนุกรรมการได้รายงานผลการเจรจากับตัวแทนกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) มา 3 ครั้ง โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของกลุ่มซีพีที่ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการเงิน ประเด็นหลัก 12 ข้อจากข้อเสนอกว่า 100 ข้อ ได้แก่ การขอรับเงินชดเชยตั้งแต่ปีแรก, การขยายเวลาสัญญาจาก 50 ปี เป็น 99 ปี ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request for Proposal) หรือ RFP ที่ไม่ได้เปิดช่องให้เจรจา

ทั้งนี้ รฟท.จะทำหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มซีพี เพื่อนัดในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. เพื่อรับทราบผลที่คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่รับข้อเสนอที่ขัดกับมติ ครม.และ RFP และกลุ่มซีพีจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ และจะเจรจาส่วนที่เหลือที่เป็นเรื่องง่าย ที่เป็นเงื่อนไขทั่วไป โดยยังมั่นใจจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ตามกรอบเวลา และจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนต.ค. หรือหลังจาก 6 เดือนนับจากวันลงนาม

"วันที่ 5 มี.ค. จะถามเขา (กลุ่มซีพี) จะเจรจาต่อไปไหม ถ้าจุดยืนไปด้วยกันก็เจรจาต่อ ถ้าไม่ได้ก็ตกลงกัน ถ้าท่านไม่มาหรือหายไปเลย จะมีหนังสือถามไป...วันที่ 5 มี.ค. น่าจะบอกได้ว่ากลุ่มซีพีจะไปต่อหรือไม่ได้ไปต่อ มันถึงทางแยกแล้ว ว่าจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา...ผมคิดว่าถึงขั้นนี้เขาไม่ถอนตัว ยกเว้นหุ้นส่วนจะถอนตัว ผมว่าเขาตั้งใจสูง เขาต้องสู้จนนาทีสุดท้าย ถ้าหุ้นส่วนไม่เอา ก็ต้องกล่อมหุ้นส่วน" นายวรวุฒิกล่าว

พร้อมระบุว่า ข้อเสนอที่กลุ่มซีพีเสนอมาเพราะกลัวเรื่องความเสี่ยง ในมุมมองนักธุรกิจก็ต้องการบริหารความเสี่ยงให้น้อยลง

สำหรับข้อเสนออื่น ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนตำแหน่งสถานีหรือเพิ่มสถานี หรือดำเนินการส่วนต่อขยาย อยู่ในเงื่อนไขสัญญาที่เปิดให้เจรจาได้ตลอดอายุสัญญา เพียงแต่ต้องดำเนินสัญญาหลักให้เรียบร้อยก่อน

ทั้งนี้ หากกลุ่มซีพีไม่ยอมรับเงื่อนไขและยุติการเจรจา คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ที่ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เจรจาเป็นรายถัดไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกได้เริ่มเจรจากับกลุ่มซีพี ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.62 โดยใช้เวลาเจรจาร่วม 2 เดือน

อนึ่ง กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บมจ. ช.การช่าง (CK), บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ