(เพิ่มเติม) BA ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารปี 62 โต 3.5% พร้อมตั้งงบลงทุน 3.3 พันลบ. ซื้อเครื่องบิน-ขยายสนามบิน,เตรียมจัดซื้อใหม่ 20 ลำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 5, 2019 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารเติบโต 3.5% อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70% และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3% ประมาณ 6.16 ล้านคน

ขณะที่ในปี 62 บริษัทฯ มีแผนลงทุนในโครงการด้านอากาศยาน วงเงินรวม 1,815 ล้านบาท อาทิ การจัดซื้อเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ โดยมีแผนรับเครื่องบินในไตรมาสที่ 2 การจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินสำรองเพื่อรองรับการซ่อมบำรุง การปรับปรุงสภาพภายใน (Cabin Refurbishment) ของเครื่องบินแบบแอร์บัส ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี (2562-2564)

แผนลงทุนในโครงการด้านท่าอากาศยาน อาทิ โครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย ซึ่งมีวงเงินรวม 958 ล้านบาท ในการสร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานและพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบิน โครงการขยายและพัฒนาสนามบินตราด วงเงินรวม 334 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่สนามบินและขยายทางวิ่งของเครื่องบิน

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบงานด้านไอที วงเงินรวม 193 ล้านบาท อาทิ การเปลี่ยนระบบให้บริการผู้โดยสารเพื่อใช้ในการสำรองที่นั่ง (PSS) เป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) การเปลี่ยนระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบิน เช่น ระบบควบคุมการบิน ระบบวางแผนการบิน ระบบบริหารจัดการลูกเรือ รวมไปถึงการพัฒนาระบบงานองค์กร (SAP-ERP) นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้มีการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อาทิ การจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100%

สำหรับการวางแผนปรับปรุงฝูงบิน 20 ลำของบางกอกแอร์เวยส์ นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิต 2 รายคือแอร์บัสและโบอิ้ง โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2/62 จะได้ความชัดเจนการจัดซื้อ หากตกลงได้จะทยอยรับมอบเครื่องบินในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า มาทดแทนเครื่องบินแอร์บัส เอ319 และ เอ320 ที่ปัจจุบันมี อยู่ 25 ลำ อายุเฉลี่ยใกล้ 10 ปี เพื่อให้มีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถประหยัดน้ำมันได้ 15-20% ทั้งนี้ ปัจจุบัน บางกอกแอร์เวยส์มีฝูงบิน 40 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินแอร์บัส เอ319/เอ320 จำนวน 25 ลำ และเครื่องบิน ATR 72-600 จำนวน 11 ลำ และ 72-500 จำนวน 4 ลำ ซึ่งจะจัดซื้อ 72-600 มาทดแทนเครื่อง 72-500 ทั้งหมด ทั้งนี้แหล่งเงินทุน บริษัทยังมีเงินที่ได้จากขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ซึ่งเหลืออยู่ 4,292 ล้านบาท

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกำไร ที่คาดว่าในปีนี้จะมีกำไรดีกว่าปีก่อนที่มี 249.3 ล้านบาท โดยการลดค่าใช้จ่าย และดำเนินงานให้มีต้นทุนน้อยลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่บริษัทมีนโยบายทำประกันความเสี่ยง (Headging) สัดส่วน 50-70% ของปริมาณน้ำมัน ปัจจุบันได้ทำประกันความเสี่ยงถึงไตรมาส 4/62 แล้วสอดคล้องกับการขายตั๋วล่วงหน้า ซึ่งในไตรมาส 1/62 ทำไว้ 74% ไตรมาส 2/62 ทำไว้ 73% ไตรมาส 3 ทำไว้ 61% และไตรมาส 4/62 ทำไว้ 53% โดยขณะนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดกำลังการผลิต

"ภาพรวมธุรกิจการบินยังมีการแข่งขันสูง แต่เราก็มีโอกาสเติบโตในตลาด CLMV เป็นตลาดที่มีศักยภาพมีการเติบโตต่อเนื่อง ปีนี้ให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่ายใน CLMV น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เติบโตได้ และนำพานักท่องเที่ยวเข้ามเที่ยวในประเทศ CLMV นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคอื่นของไทย และเราจะใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น"

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า แผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ในปีนี้ ยังคงเน้นกลยุทธ์การขยายโครงข่ายเส้นทางการบินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร และบุกเบิกการเปิดเส้นทางบินใหมที่ยังไม่มีสายการบินอื่นให้บริการ โดยใช้กรุงเทพ (สุวรรณภูมิ), สมุย , เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยเปิดเส้นทาง กรุงเทพ-คัมรัน (เวียดนาม เมื่อปลาย ม.ค.ที่ผ่านมา ทำการบิน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และเตรียมเปิดอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่-กระบี่ ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มบิน 31 มี.ค.62 และ เส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการ 2 เม.ย.62 รวมทั้งจะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยม อาทิ กรุงเทพ-ดานัง (เวียดนาม) จาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 1 มี.ค.62 และกระบี่-กรุงเทพ จาก 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 31 มี.ค.62

นอกจากนี้เพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการบินผ่านการทำข้อตกลงเที่ยวบินร่วม (Codeshare Agreement) กับสายการบินชั้นนำ ในปี 62 บริษัทฯ มีแผนที่จะลงนามข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินเพิ่มเติมอีก 2-3 สายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ มีข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินชั้นนำจากทั่วโลกอยู่ 27 สายการบิน โดยสายการบินล่าสุดคือฟิลิปปินส์แอร์ไลน์

ส่วนแผนการขยายธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อาทิ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air catering – BAC) ที่จะเปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ สาขาสนามบินเชียงใหม่ กำหนดเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 2/62 ตลอดจนธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีให้บริการร้านอาหาร Brasserie 9 ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม ร้านอาหาร Al Saray ซึ่งเป็นร้านอาหารเลบานีสและอาหารอินเดีย และภายในปีนี้มีแผนจะเปิดให้บริการร้านเรือนนพเก้า ซึ่งเป็นอาหารไทยตำรับชาววังเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง นายพรต เสตสุวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด BA กล่าวถึงแผนการตลาดปี 62 ว่า ในปีนี้บริษัทฯ จะเน้นการทำตลาดแบบเชิงรุกในตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขายและสร้างการรับรู้ในสินค้าและบริการของบริษัทฯ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมทางการขายและการตลาดผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency) รวมถึงการโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกออนไลน์ (Key Opinion Leader – KOL) ทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัทยังให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมการขายและการตลาดแก่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ (Global Sales Agents) ทั่วโลกเช่นเดิม

และขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระบบสำรองที่นั่งจาก Sabre ไปสู่ Amadeus ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการออนไลน์ของบริษัทมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและได้รับบริการต่างๆหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ด้านนายวรงค์ อิศรเสนา ณ อยธุยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขาย BA กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายมีสัดส่วน 10% มาจากยอดขายตั๋วโดยสารผ่านตัวแทนจำนหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency : OTA) ได้แก่ traveloka , Make My Trip , eDreams เป็นต้น ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้การขายตั๋วโดยสารสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก จากเดิมจำกัดในเอเชีย ยุโรป

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยังคงเน้นการขายในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) โดยเน้นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น สำหรับแผนการขายภายในประเทศ บริษัทฯ เน้นเจาะกลุ่มตลาดนักเดินทางเพื่อธุรกิจ (Corporate Travel) มากขึ้น เนื่องจากมีอัตราการเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการของบางกอกแอร์เวย์สถือว่าตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังจะมีการออกโปรโมชั่นต่าง ๆ รวมทั้งการร่วมออกบูธจำหน่ายบัตรโดยสาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขายล่วงหน้ามากขึ้น อาทิ ไทยเที่ยวไทย เป็นต้น

*จับมือพันธมิตรร่วมชิงดิวตี้ฟรี-เมืองการบินตอ.

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทจะเข้าร่วมประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ซึ่งได้เจรจากับพันธมิตร 2 รายที่มาจากยุโรปและเอเชีย และจะเลือกหนึ่งรายเข้าร่วมทุนไปประมูล ซึ่งรอทีโออาร์การประมูลออกมาเสียก่อน เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดประมูลพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภุมิรวมกับพื้นที่ในท่าอากาศยานภูเก็ต,หาดใหญ่และเชียงใหม่ หรือไม่

ส่วนการประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าโครงการ กว่า 2 แสนล้านบาทนั้น บริษัทมีความพร้อมยื่นประมูลในวันที่ 21 มี.ค.นี้ โดยได้จับมือพันธมิตร 5-6 ราย ในลักษณะ Corsortium โดย BA จะเป็นผู้นำ คาดจะถือสัดส่วน 30-35% โดยเบื้องต้นคาดใช้เงินลงทุนช่วง 10 ปีแรก จำนวน 1 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ