SCC เล็งร่วมทุนพันธมิตรต่างชาติลงทุน New S-Curve ใน EEC คาดเริ่มเห็นบางโครงการปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 27, 2019 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนด้านอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ หรือ New S-Curve ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่างประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะสามารถเห็นการลงทุนบางโครงการได้ภายในปีนี้

"ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้แต่จะเป็นเรื่องของทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่โครงการที่ใหญ่มากนัก ใช้เงินลงทุนไม่สูง ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับผู้ที่มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นเรื่องการผลิตเท่าไหร่ เป็นเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า ก็คงจะค่อยเป็นค่อยไป ปีนี้ก็คงมีบ้าง แต่ละโครงการไม่ใช่โครงการใหญ่"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ EEC นอกจากในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว ในเชิงของโครงสร้างพื้นฐาน เอสซีจียังซัพพลายปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างให้กับการลงทุน และยังจะให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะตอบสนองความต้องการในพื้นที่ได้

สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีในปีนี้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากความผันผวนของตลาดและต้นทุนวัตถุดิบขึ้นกับราคาน้ำมันเป็นหลัก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมาร์จิ้นของธุรกิจ ซึ่งเอสซีจีก็จะพยายามปรับราคาสินค้าให้ได้เท่าที่จะทำได้ รวมถึงจะพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่ม (HVA) ที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าทั่วไปราว 5-10% ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มียอดขายสินค้า HVA ในสัดส่วน 40% ของยอดขายในธุรกิจเคมีภัณฑ์

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างก็จะพยายามปรับยอดขายให้ดีขึ้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณแนวโน้มความต้องการใช้ที่ดีขึ้นนับจากไตรมาส 4/61 จากการลงทุนของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ก็จะยังคงพัฒนาให้มีการเติบโตต่อเนื่องต่อไป

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม มูลค่าราว 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังคงเดินหน้าตามแผนงานและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 66 ซึ่งโครงการมีความได้เปรียบทางด้านการตลาด ต้นทุน และการลงทุน โดยในด้านการตลาด เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามยังไม่มีโรงงานปิโตรเคมีทำให้ต้องมีการนำเข้าจากสหรัฐและภูมิภาคปีละ 2.5 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านตันใน 4 ปีข้างหน้าที่โรงงานของเอสซีจีที่มีขนาด 1.5-1.6 ล้านตัน/ปีจะแล้วเสร็จ

ในด้านต้นทุน เอสซีจีได้ออกแบบโรงงานให้มีความยืดหยุ่นโดยสามารถใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบได้มากถึงระดับ 80% นอกเหนือจากการใช้แนฟทา ซึ่งมาจากน้ำมันเป็นวัตถุดิบ ทำให้สามารถเลือกใช้วัตถุดิบให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงระดับราคาได้ อีกทั้งยังได้ทำสัญญากับกาตาร์เพื่อซื้อก๊าซฯ หรือแนฟทาเป็นระยะเวลา 15 ปี ทำให้มั่นใจว่าโรงงานดังกล่าวจะเป็นโรงงานที่ดีที่สุดในภูมิภาค ขณะที่ในด้านการลงทุน จะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนของโรงงานยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับโครงการแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีระดับ 7-10 พันล้านเหรียญสหรัฐ

"เรามั่นใจว่าจากปัจจัยหลักทั้งการตลาด ต้นทุน และการลงทุน จะทำให้เราได้เปรียบ และการที่เรามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ทำให้เชื่อมั่นต่อโอกาสความสำเร็จของโครงการนี้"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ คาดว่าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนามจะสามารถสร้างยอดขายให้กับเอสซีจีเพิ่มขึ้นราว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เทียบจากปัจจุบันที่เอสซีจีมียอดขาย 4.78 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ