IRPC คาดแผนลงทุนโครงการพาราไซลีนชัดเจน Q2/62 รอประเมินตลาด-รูปแบบ พร้อมคาด GIM รวมสต็อกใน Q1/62 ดีกว่า Q4/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 3, 2019 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการMaximum Aromatics Project หรือ MARS ซึ่งมีมูลค่า ราว 3 หมื่นล้านบาท เป็นการผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3-5 แสนตัน/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนโครงการเพื่อรอดูภาวะตลาดและรูปแบบโครงการที่อาจจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลง คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/62

ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และการออกแบบโครงการ ทำให้การจัดหาผู้รับเหมาโครงการจะเลื่อนออกไปจากแผนเดิมที่จะดำเนินการได้ในกลางปีนี้ และเดิมคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 66

นายนพดล กล่าวว่า บริษัทคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับ 14-16% สร้างกำไรราว 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และสร้างผลตอบแทน (Yield) ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงขึ้นเป็นระดับ 27% จากเดิมอยู่ที่ 17% โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีนับว่ามีมาร์จิ้นดี ขณะเดียวกันยังใช้ประโยชน์จากแนฟทาที่ออกจากโรงกลั่นกว่า 3 หมื่นตัน/ปี มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพาราไซลีนส่วนหนึ่งจากเดิมที่ต้องส่งออกซึ่งได้ราคาไม่ดี

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ขอระบุว่าโครงการ MARS เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ข้อพิพาททางกฎหมายหรือไม่ ตามที่มีผู้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งระงับหรือเพิกถอนกิจกรรมใด ๆ ของบริษัทในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีส่วนต่อขยาย ซึ่งเป็นทางและลำรางสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันอยู่ทั้งหมดในพื้นที่พิพาทนั้น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองจ.ระยอง ซึ่งหากคำตัดสินออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ก็จะกระทบต่อส่วนขยายของบริษัทที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต

"โครงการ MARS ก็ดำเนินการคู่ขนานกันไปแม้จะยังไม่มีคำชี้ขาดจากศาลฯออกมาในขณะนี้ก็ตาม"นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้มีการลงทุนปรับปรุงระบบท่อเพิ่มเติมราว 100 ล้านบาท เพื่อรองรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% ตั้งแต่ต้นปี 63 ซึ่งจะสามารถได้ผลผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำออกมาในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ โดยคาดว่าในส่วนนี้จะสร้างผลตอบแทนกลับมาบริษัทในช่วงหลาย ๆ ปีประมาณปีละ 170 ล้านบาท หรือทำให้กำไรภาพรวมเพิ่มขึ้นราว 0.7-1.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ในส่วนการลงทุนซื้อกิจการหรือร่วมทุน (M&A) ซึ่งอยู่ภายใต้โปรแกรม GALAXY นั้น ล่าสุดจะเข้าลงทุน 15% ในบริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. (GZSJ) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งบริหารจัดการ Platforms ภายใต้ชื่อ "IPLAS" นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรัฐบาลจีนอนุมัติการลงทุนตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยบริษัทดังกล่าวคาดว่าจะมีกำไร 75-150 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งบริษัทก็จะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนช่วง 5 ปี (ปี62-66) สำหรับสร้างโอกาสลงทุนอื่นราว 3.4 หมื่นล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการทำ M&A และส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตเอทิลีน ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT)

นอกจากนี้ในช่วง 5 ปีดังกล่าว จะใช้เงินลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) จำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนโครงการ MARS , โครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) การลงทุนรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro V โดยใช้เงินลงทุนราว 8 พันล้านบาท ,งบสำหรับซ่อมบำรุงโรงงานตามปกติ ราว 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

นายนพดล กล่าวว่า กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะอยู่ที่ 11-12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าระดับ 6.58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 4/61 หลังคาดว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันหลังราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปิดสิ้นเดือนมี.ค.อยู่ที่ 67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาปิดสิ้นปี 61 ขณะที่ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบทั้งปีนี้จะแกว่งตัวระดับ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก

สำหรับผลกระทบจากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้นั้น บริษัทจะตั้งสำรอง 760 ล้านบาท จากพนักงานที่มีอยู่ราว 5,100 คน

นอกจากนี้การที่บริษัทยังคงมีการถือครองที่ดินเปล่าอยู่ราว 2 พันไร่นั้น หากไม่มีการพัฒนาก็จะต้องเสียภาษีที่ดินตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 63 นั้น คาดว่าจะทำให้บริษัทเสียภาษีที่ดินราว 100 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ