โบรกฯเชียร์"ซื้อ"TU คาดผลงาน Q1/62 โตจากมาร์จิ้นดีขึ้นหลังต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าลดลง/เล็งผลบวกดันบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 9, 2019 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกฯเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เล็งผลประกอบการไตรมาส 1/62 คาดกำไรสุทธิเติบโตจากการฟื้นตัวของธุรกิจปลาทูน่า และต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่ลดลง หนุนอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น

นอกจากนั้น แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/62 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/62 เนื่องจากเป็นไปตามฤดูกาลของธุรกิจ และต้นทุนปลาทูน่ายังต่ำ รวมถึงราคากุ้งฟื้นตัวขึ้นด้วย

ส่วนการนำบริษัทย่อยคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (TFM) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าจะส่งผลดีต่อการขยายการเติบโตในอนาคต ทำให้ส่งผลต่อการรับรู้รายได้ของ TU เข้ามา ซึ่งภายหลัง IPO ทาง TU จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 51%

พร้อมคงประมาณการกำไรทั้งปีไว้ที่ 5,183-6,079 ล้านบาท เติบโตกว่าปีก่อน ขานรับกำไรขั้นต้นที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีหลังจากได้รับผลดีของต้นทุนปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำมากในช่วงไตรมาส 4/61 ถึงไตรมาส 1/62

          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)   ซื้อ               20.90
          ฟิลลิป (ประเทสไทย)            ทยอยซื้อ           20.50
          หยวนต้า(ประเทศไทย)           ซื้อเก็งกำไร        21.50
          เคที ซีมิโก้                    ซื้อ               19.00
          คันทรี่ กรุ๊ป                    ซื้อ               21.10
          ทรีนิตี้                        ซื้อ               21.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)    ซื้อ               21.70

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป กล่าวว่า ผลประกอบการของ TU ในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของธุรกิจปลาทูน่าที่คาดว่าจะมีกำไรขั้นต้นดีขึ้น และธุรกิจอาหารสัตว์จากต้นทุนปลาทูน่าที่ลดลง แต่คาดผลประกอบการจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 4/61 ประมาณ -7% เนื่องจากผลกระทบตามฤดูกาล

ส่วนรายได้ในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะอยู่ที่ 29,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการเติบโตจากธุรกิจกุ้ง และธุรกิจอาหารสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อีกปัจจัยเกิดจากค่าเงินยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น กำไรขั้นต้นดีขึ้นเป็น 14.4% จาก 11.3% ในไตรมาส 1/61 และจากการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่ สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ 11.2% ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจาก 10.7% ในไตรมาส 4/61 เพราะมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของ TU ในไตรมาส 2/62 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/62 เนื่องจากเป็นไปตามฤดูกาลของธุรกิจในไตรมาส 2 จะฟื้นตัวดีกว่าไตรมาสแรก และไตรมาส 3 จะเติบโตได้มากกว่าไตรมาส 2 จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาปลาทูน่าปีนี้น่าจะไม่ผันผวนเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดราคาปลาทูน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3 นี้ ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ประกอบกับยังเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำในแง่ของกำไรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย รวมถึงค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงนี้ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน หรือไม่ปรับตัวแข็งค่าไปมากกว่านี้

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามดูในส่วนของค่าเงินยูโรว่าจะกดดันผลประกอบการในช่วงที่เหลือหรือไม่ และสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนจะส่งผลอย่างไรกับบริษัทฯ ในอนาคต

ส่วนแผนการนำบริษัทย่อยคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (TFM) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าจะส่งผลดีต่อการขยายการเติบโตในอนาคต ทำให้ส่งผลต่อการรับรู้รายได้เข้ามา ซึ่งภายหลัง IPO ทาง TU จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 51%

พร้อมคงประมาณการกำไรทั้งปีไว้ที่ 5,183 ล้านบาท เติบโต 59% โดยมองว่ากำไรขั้นต้นจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี หลังจากได้รับผลดีของต้นทุนปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำมากในช่วงไตรมาส 4/61 ถึงไตรมาส 1/62

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/62 จะเติบโตทั้งไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามผลของฤดูกาลที่จะต่ำที่สุดในไตรมาส 1 และต้นทุนปลาทูน่ายังต่ำ ราคากุ้งฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มราคาปลาทูน่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้ามีโอกาสขยับขึ้นอีกเล็กน้อยตามสภาวะอากาศ แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการจับปลาที่ผิดปกติจนทำให้ปริมาณปลาในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยังคงประมาณการกำไรปกติปี 62 ที่ 6,079 ล้านบาท เติบโต 34.5% จากปีก่อน

ส่วน บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดกำไรปกติไตรมาส 1/62 จะเติบโต 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.6% จากไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 11.5% จากต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่ลดลง ประมาณ 30% และธุรกิจกุ้งฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง รวมทั้งการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้เติบโตดีขึ้นจากอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าราคาวัตถุดิบปลาทูน่ามีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาปลาทูน่าในเดือน มี.ค.62 ปรับตัวขึ้นมาที่ 1,600 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นไปตามผลของฤดูกาล ซึ่ง TU ยังคงบริหารจัดการได้ ขณะที่โรงงานผลิตน้ำมันปลาที่เยอรมันได้เริ่มผลิตแล้วในปีนี้ แต่รายได้ยังไม่มีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ