หุ้นแบงก์คลอดงบ Q1/62 หลังสงกรานต์คาดโต QoQ แต่ YOY ยังทรงตัว ระวัง"Sell on Fact"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 12, 2019 09:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ช่วงต้นเดือน เม.ย.62 SET INDEX จะมีปัจจัยบวกจากกรณีดัชนี Morgan Stanley Capital International (MSCI) ประกาศปรับน้ำหนักหุ้นไทยขึ้นอีก 0.5% เป็น 2.8% ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จุดประกายความหวังว่าเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้า โดย บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่าจะมีปริมาณสูงถึง 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ความไม่ชัดเจนทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของ 2 ขั้วการเมืองยังสร้างความปั่นป่วนต่อบรรยากาศการลงทุน

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสำคัญของตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ คือการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/62 เริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดหมายว่า บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (TISCO) จะเป็นธนาคารรายแรกที่เปิดฉากแจ้งงบฯ ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ และถัดไปวันที่ 19 เม.ย.น่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ (BBL),ธนาคารกสิกรไทย(KBANK),ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และบริษัท ทุนธนชาต (TCAP)

จากการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าแนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/62 จะเติบโตได้ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เนื่องจากค่าใช้จ่ายปรับตัวลงตามฤดูกาล แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เชื่อว่ายังทรงตัว ขณะที่ บล.เอเชีย พลัส เห็นต่าง โดยมองอย่าง Conservative ว่ากำไรทั้งกลุ่มจะหดตัวเมื่อเทียบ YoY และจะบวกขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบ QoQ

          โบรกเกอร์            คาดกำไรสุทธิ Q1/62       เทียบกับ Q1/61         เทียบกับ Q4/61
          บล.โนมูระ พัฒนสิน        4.37 หมื่นลบ.            -3.70%                +24.00%
          บล.เอเซีย พลัส          4.42 หมื่นลบ.           -15.50%                 +5.20%
          บล.หยวนต้า             5.20 หมื่นลบ.            +1.70%                +26.80%
          บล.เคทีบี(ไทย)          4.40 หมื่นลบ.            -4.00%                +23.00%
          บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี      4.90 หมื่นลบ.            -5.00%                +18.60%

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ตลาดฯ รับรู้ผลกระทบในงบการเงินไตรมาส 1/62 ของกลุ่มแบงก์จากค่าใช้จ่ายสำรองพนักงานที่มีอายุงานเกิน 20 ปีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายการลงทุนระบบไอทีที่อยู่ในระดับสูง แต่อาจต้องติดตามผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำสำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดไม่เกิน 5 ล้านบาทในธนาคารขนาดใหญ่ แต่เบื้องต้นประเมินผลกระทบอาจจะไม่มากนัก

ดังนั้น มองว่าภายหลังจากกลุ่มแบงก์ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/62 แล้ว ไม่น่าจะเกิดภาวะ Buy on Fact เพราะกำไรแต่ละแห่งน่าจะเป็นไปตามคาด แต่ในทางกลับกันอาจจะเกิด Sell on Fact ได้ในหุ้นแบงก์บางแห่ง แต่คงไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับขึ้นมาไม่มากหากเทียบกับช่วงปรับฐานตั้งแต่ปี 61

นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า สิ่งที่จะมาปลดล็อกหุ้นกลุ่มแบงก์ให้ Outperform อีกครั้งคือหากมีความชัดเจนในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมจะเข้าซื้อหุ้นธนาคารทันที

ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนกำไรกลุ่มแบงก์ปีนี้จะเป็นการเติบโตสินเชื่อรวมที่คาดไว้ในระดับ 5.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ประเมินอัตราการขยายตัว (GDP) ปีนี้ไว้ที่ 3.4% ตามการเร่งลงทุนของภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้สินเชื่อรายใหญ่จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะเห็นการเปลี่ยนผ่านของสินเชื่อรายใหญ่จากเดิมสัญญาระยะสั้นมาเป็นระยะยาวมากขึ้น

ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวระดับต่ำ ผิดจากที่เคยคาดว่าจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง นางสาวอุษณีย์ เชื่อว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ เนื่องจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในระดับปัจจุบันสามารถรักษาการเติบโตกำไรได้ดี เบื้องต้นคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เพราะธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศอาจต้องรอความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก่อนว่าจะสานต่อนโยบายการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ จากรัฐบาลชุดเดิมหรือไม่ โดยหากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็น กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เชื่อว่าปีนี้จะไม่เร่งตัวจนกระทั่งสร้างความกังวลเหมือนในปี 60 เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารแต่ละแห่งได้ทยอยแก้ไขปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือตัดขายหนี้สินออกไป ไม่ให้เป็นภาระทางการเงิน แม้บางช่วงอาจจะเห็นการเกิด NPL ขึ้นมาบ้าง แต่จะเกิดขึ้นในส่วนของสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือลูกค้ารายเล็ก ซึ่งมองว่าไม่ได้กระทบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ปีนี้ คือ การยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ ทำให้ธนาคารหลายแห่งหันไปปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น รวมถึงยังได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมการขายประกันที่ชะลอตัว ทำให้ประเมินว่าภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้คงยังไม่เห็นการเติบโต นอกจากนั้น แต่ละแบงก์ยังต้องมีค่าใช้จ่ายลงทุนระบบไอทีที่เป็นภาระต่อเนื่อง และการตั้งสำรองหนี้ฯในระดับสูงยังมีความจำเป็นเพื่อรองรับการตัดหนี้สูญและเตรียมพร้อมสำหรับมาตรฐาน IFRS9

นักวิเคราะห์ เอเซีย พลัส ย้ำว่า จังหวะนี้เป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะราคาหุ้นได้ปรับฐานไปมากแล้ว อัตราดอกเบี้ยในประเทศระดับปัจจุบัน ถือว่าช่วยสนับสนุนการเติบโตสินเชื่อและกำไรได้ดี หากเศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวภายหลังการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ชัดเจน หุ้นกลุ่มธนาคารพร้อมที่จะกลับมา Outperform ได้ทันที และมีโอกาสสูงที่ฝ่ายวิจัยฯจะปรับเพิ่มประมาณการเป้าสินเชื่อรวมใหม่

ทั้งนี้ ยกให้หุ้นเด่นในกลุ่มยังเป็นแบงก์ใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่มาก ได้แก่ KBANK และ BBL ปัจจุบันมีปันผลเฉลี่ย 3-4% พร้อมกับคาดหวังอัพไซด์จากส่วนต่างราคาหุ้นได้ไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน

ด้านนักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ยังมีมุมมอง"เป็นกลาง"ต่อแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/62 ของกลุ่มแบงก์ พร้อมคงน้ำหนักลงทุน"เท่ากับตลาด"เพราะขาดปัจจัยบวกชัดเจน โดยจะต้องจับตาทั้งผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและธุรกิจประกันยังอ่อนแอ รวมถึงการลงทุนระบบไอที โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ อย่างกรณีของ KTB ตั้งงบลงทุนไว้สูงกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท

ฝ่ายวิจัยฯ ยังจับตาความเสี่ยงแผนรุกสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง ผ่านช่องทาง Digital Lending ของธนาคารขนาดใหญ่อย่าง SCB และ KBANK หากการเกิดกรณีที่หนี้เสียเร่งตัวขึ้น อาจเป็น Downside Risk ต่อประมาณการกำไรปี 62 ได้เช่นกัน

ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น 10 ธนาคารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-2 เมษายน 2562 (ที่มา ตลท.)

          หลักทรัพย์                  เปลี่ยนแปลง                    P/E
            TMB                      -7.27%                   7.71 เท่า
            BAY                      -2.61%                  11.04 เท่า
            SCB                      -2.25%                  11.07 เท่า
            KTB                      -0.52%                   9.37 เท่า
            KBANK                    +2.16%                  11.76 เท่า
            BBL                      +2.96%                  11.29 เท่า
            KKP                      +6.04%                   9.85 เท่า
            TCAP                     +6.53%                   7.75 เท่า
            LHGF                    +12.41%                  10.50 เท่า
            TISCO                   +12.78%                  10.07 เท่า
          https://youtu.be/Qz_oCnciomA

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ