บล.ไทยพาณิชย์ มองหุ้นไทย Q2/62 ยังผันผวนตามข่าวตั้งรัฐบาล แต่ downside จำกัด ยืนเป้าปีนี้ 1,700-1,800 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 26, 2019 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า ทิศทางของตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะผันผวนในช่วงที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาทั้งไตรมาส 2/62 เนื่องจากภาพรวมหลังเลือกตั้งของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน และหลังจากมีความชัดเจนแล้วตลาดหุ้นไทยก็จะกลับไปปรับตัวตามสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกและทิศทางของผลการดำเนินงาน โดยประเมินว่า SET Index มีโอกาสลดลงไปได้ที่ 1,600 หรือ 1,550 จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง แต่ยังคงยืนยันเป้าหมายของปี 62 ที่ 1,700-1,800 จุด

อย่างไรก็ตาม SET Index จะมี downside จำกัด และไม่คิดว่าตลาดจะปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว เดือน ก.ค. ที่ 1,600 จุด และ เดือน ธ.ค. ที่ 1,550 จุด เนื่องจากภาวการณ์ลงทุนและ sentiment ในตอนนี้ดีกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก แต่ upside ก็ไม่สูงมากมองที่ระดับ 1,700-1,800 จุด โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ราคามีโอกาสปรับตัวลดลงในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน เนื่องจากตลาดจะคลายความกังวลหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองจะกลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เพียงการเมืองไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และ ในยุโรป เป็นต้น ดังนั้นโซนเข้าซื้ออยู่ระหว่าง 1,550 -1,600 จุด ขณะที่โซนขายอยู่ระหว่าง 1,750-1,800 จุด หรือ 8-10% จากระดับปัจจุบัน

สำหรับกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุน (Asset allocation) ในไตรมาส 2/62 ของ SCBS คือ "ปรับพอร์ตเป็นเชิงรุกมากขึ้น" โดยแนะนำ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานและเศรษฐกิจรวมถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ยังคงมีอยู่สูง โดยในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังรอความชัดเจนทางการเมือง แนะนำกระจายการลงทุนไปตลาดหุ้นโลก, หุ้น Asia Ex Japan โดยเฉพาะหุ้นจีน

พร้อมทั้งสร้างสมดุลด้วยสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ โดยในส่วนของตราสารหนี้ แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอายุยาวขึ้นในช่วงประมาณ 4-6 ปี หรือ สินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น REIT และ Emerging Market Bond เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดทางเลือกอื่น ๆ ในการลงทุนมากขึ้น

ด้านนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ของโลก มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในทิศทางเดียวกัน (Synchronize Slowdown) สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 62 ลงอยู่ที่ 3.3% จาก 3.5% ที่ได้ประมาณการไว้ครั้งก่อน ขณะที่ธนาคารกลางหลัก ๆ ทั่วโลก ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในไตรมาส 2/62 ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางจีน (PBoC) ซึ่งเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ย ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตามหากเครื่องชี้วัดต่าง ๆ ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เฟดอาจส่งสัญญาณเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการเงิน (Monetary Policy Stance) เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้น (Hawkish) เพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 62 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 62 จริงก็ตาม สำหรับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าในไตรมาส 2/62 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ Yield Curve ของสหรัฐฯ ก็อยู่สูงกว่าเช่นเดียวกัน

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดย SCB-EIC คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 62 อยู่ที่ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ตลอดปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Monetary Policy Gap) ระหว่างสหรัฐฯ และไทย

กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2/62 ในส่วนตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) มองว่า Yield Curve ไม่น่าจะกลับมา Inverted ในไตรมาส 2/62 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณดีขึ้น และตลาดรับรู้เรื่องการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของเฟดไปมากแล้ว ซึ่งหากเศรษฐกิจส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เฟดกลับมาส่งสัญญาณเปลี่ยน Policy Stance เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้นเพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 62 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 62 จริงก็ตาม เป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีได้ ดังนั้น ไม่แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวต่างประเทศ ขณะที่ตราสารหนี้ไทยอายุไม่เกิน 5 ปี ยังน่าสนใจลงทุน เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปีนี้

ส่วนตลาดตราสารทุน (Equity) มองว่าตลาดหุ้นที่ปรับลดลงในช่วงไตรมาส 4/61 ได้สะท้อนปัจจัยลบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด และตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้แล้วบางส่วน สำหรับในไตรมาส 2/62 ยังสามารถทยอยสะสมหุ้นในบางตลาดได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ แรงกระตุ้นจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น , ตัวเลขเศรษฐกิจในบางประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น PMI ภาคการผลิตของจีนกลับมาฟื้นตัว ยืนเหนือ 50 จุด หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และ ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงที่เริ่มคลี่คลายลง ทั้งประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และสงครามการค้า

โดยแนะนำ Overweight สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และ Underweight สำหรับตลาดหุ้นยุโรป โดยเศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจน ขณะที่ประเด็น Brexit ยังยืดเยื้อ ส่วนตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นจีน แนะนำ Neutral ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ ให้น้ำหนัก Underweight เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก และ Neutral สำหรับน้ำมัน หลังราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจำกัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ