คำต่อคำ เปิดใจ"ซีอีโอ SUPER"หุ้นยังต่ำบาทกับอนาคตสดใสผู้ผลิตไฟฟ้าเบอร์หนึ่งเอเชีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 7, 2019 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ที่ผ่านมายอมรับว่ามีผู้ถือหุ้นบางรายมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และขายหุ้นออกไป เป็นเรื่องปกติของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อาจจะเป็นการขายหุ้นในตลาดมากกว่าความต้องการ เป็นกลไกปกติที่ราคาหุ้นต้องปรับตัวลง แต่พอถึงจุดนี้เชื่อมั่นว่าในระยะกลางการเคลื่อนไหวหุ้น SUPER จะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องคำนึงว่า SUPER อยู่ในธุรกิจสัมปทานขายไฟฟ้า ทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้ และจะมากขึ้นอีกในอนาคต"นายจอมทรัพย์ โลจายะ ซีอีโอ SUPER กล่าวให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

ย้อนอดีตไปตั้งแต่ปี 2547 ภายหลังครอบครัว"โลจายะ"เข้าซื้อกิจการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก ที่ประกอบธุรกิจอิฐมวลเบา ก่อนจะปรับโครงสร้างหนี้และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548 เป็นต้นมา ช่วงนั้นบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ปี 56 ครอบครัวตระกูล "โลจายะ"ตัดสินใจทำดีลขายธุรกิจอิฐมวลเบาทั้งหมดให้กับ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) พร้อมหันมาเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มตัว

เมื่อย้อนมองกราฟ SUPER ตั้งแต่ปี 2548 จัดอยู่ในหมวด"หุ้นต่ำบาท"มาตลอด 8 ปี แม้ว่าในช่วงแรกธุรกิจอิฐมวลเบาเคยเติบโตโดดเด่น จนกระทั่งเกิดภาวะ Oversupply ของสินค้าในตลาดฯ ทำให้บริษัทเริ่มขาดทุนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2555

นายจอมทรัพย์ กล่าวถึงความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจช่วงนั้น พร้อมจุดเริ่มต้นของกิจการพลังงานทดแทน

"ช่วงที่เริ่มธุรกิจอิฐมวลเบาขยายตัวเร็วมาก ลูกค้าต้องรอถึง 3 เดือน ต้องจ่ายเงินก่อนจองสินค้า คู่แข่งช่วงนั้นก็ขยายกำลังการผลิตถึง 3 เท่า ในส่วนของ SUPER เมื่อเข้าตลาดฯแล้วก็ดำเนินการขยายกำลังการผลิตอีก 2 เท่าเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดเกิดภาวะ Oversupply ทันที ต่อมาปี 2549 บริษัทเริ่มมีผลประกอบการขาดทุน ผลกระทบดังกล่าวต่อเนื่องมาถึงปี 2555

ต่อมาปี 2556 บริษัทขายธุรกิจอิฐมวลเบาให้กับกลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง พร้อมกับเข้ามาสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เริ่มต้นช่วงขายโรงงานอิฐมวลเบาได้เงินกว่า 500 ล้านบาท ชำระหนี้ไป 300 ล้านบาท ส่วนอีก 200 ล้านบาทเข้ามาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 11 เมกะวัตต์ นับเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนตั้งแต่นั้นมา

หลังจากนั้น SUPER ขยายธุรกิจต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเปิดโครงการที่มีใบอนุญาตค้างท่อ ทำให้จากปี 2556-2560 บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจเต็มที่ สามารถขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งผู้ประกอบการที่มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในไทย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตในมือทั้งสิ้น 780 เมกะวัตต์ "

"ธุรกิจพลังงานทดแทน" เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีควา,มั่นคงด้านรายรับกระแสเงินสด ทำให้นักลงทุนส่วนมากเชื่อมั่นการเติบโตโดดเด่นในอนาคต ในช่วงปี 2557 หุ้น SUPER กลายเป็น "Growth Stock" ในสายตานักลงทุน ส่งผลให้หุ้นร้อนแรงขึ้นมายืนเหนือบาททันที ก่อนจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 2.45 บาท/หุ้นในช่วงต้นปี 2558 และค่อยๆ ปรับตัวลดลงจากแรงขายมาตลอดทาง ท่ามกลางกระแสข่าวลือด้านลบต่างๆ โดยเฉพาะการขายหุ้นทิ้งของกลุ่มผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจพลังงานทดแทนภายใต้การดำเนินธุรกิจของ SUPER จึงเกิดกระแสความไม่พอใจกลุ่มนักลงทุนรายย่อยทั่วไปบางกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงรอบนี้ ปัจจุบันหุ้น SUPER กลับมาเคลื่อนไหว "ต่ำบาท" อีกครั้ง โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไปทั้งสิ้น 26,915 ราย

*SUPER รับเคยธุรกิจสะดุด เหตุหุ้นร่วงหนักกระทบแผนระดมทุน

ซีอีโอ SUPER เล่าเหตุการณ์วันนั้นว่า การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ต้องใช้เงินลงทุนมาก ในช่วงนั้นจึงออกเครื่องมือทางการเงิน พร้อมกับเพิ่มทุน แต่เมื่อราคาหุ้น SUPER ปรับตัวลงมาก ทำให้แผนระดมทุนช่วงนั้นเกิดสะดุดทันที จึงทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ในช่วงนั้นบริษัทมีพันธมิตรที่ดี ช่วยวางแผนขยายกิจการมาต่อเนื่อง ตามแผนระดมทุนคือใช้เงินจากการเพิ่มทุน พร้อมกับออกวอร์แรนต์ 1,2 และ3 นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ภายหลังจากวอร์แรนต์ 1 และ 2 ก็ถูกนำมา Exercise แปลงเป็นหุ้นสามัญ ทำให้บริษัทได้เงินมาก่อสร้างโครงการเฟสแรกตามแผน

แต่มีจังหวะหนึ่งที่หุ้น SUPER ปรับตัวลงหนัก ทำให้แผนเพิ่มทุน PP ไม่สามารถขายให้กับกลุ่มทุนได้ และวอร์แรนต์ 3 นักลงทุนก็ไม่ได้นำไป Exercise แปลงเป็นหุ้นสามัญ แผนงานที่เคยวางไว้ในการระดมทุนและก่อสร้างเฟสถัดมาในช่วงปี 2558-2559 เกิดสะดุดทันที ทำให้ดูเหมือนว่า SUPER ขยายกิจการเกินตัว แต่ถึงวันนี้บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้หมดแล้ว บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาทุกวัน โดยในส่วนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 16 ล้านบาท/วัน จากพลังงานขยะ 1.4-1.5 ล้านบาท/วัน"

"ช่วงนั้นต้องปรับแผนเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบกับช่วงที่ทำธุรกิจอิฐมวลเบาสถานการณ์นั้นหนักกว่ามาก เพราะตลอด 8 ปีมีผลขาดทุนทุกปี แต่พอมาธุรกิจ SUPER บริษัทยังมีกระแสเงินสด มีกำไรเข้ามาตลอดทาง ยอมรับว่าช่วงนั้นต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือยืดเวลาการจ่ายหนี้ให้ช้าลง เข้าไปเจรจากับผู้รับเหมาฯ ซึ่งทุกคนพร้อมร่วมใจก็เลยผ่านพ้นปัญหา จนสามารถสร้างอาณาจักรพลังงานทดแทนของ SUPER ได้มาถึงทุกวันนี้"

ในกรณีที่ราคาหุ้น SUPER ปรับตัวขึ้นช้า แม้บริษัทมีกำไรต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว นายจอมทรัพย์ ยอมรับว่ามีผู้ถือหุ้นบางรายมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และขายหุ้นออกไป เป็นเรื่องปกติของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อาจจะเป็นการขายหุ้นในตลาดมากกว่าความต้องการ เป็นกลไกปกติที่ราคาหุ้นต้องปรับตัวลง แต่พอถึงจุดนี้เชื่อมั่นว่าในระยะกลางการเคลื่อนไหวหุ้น SUPER จะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นผู้ลงทุนต้องคำนึงว่า SUPER อยู่ในธุรกิจสัมปทานขายไฟฟ้า ทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้ และจะมากขึ้นอีกในอนาคต

"ปัจจุบัน SUPER มีสัมปทานขายไฟฟ้าเหลืออีก 22 ปี รับรู้รายได้ต่อเนื่อง บริษัทมีกำไร 3 ปีติดต่อกัน ถ้าทุกคนเห็นพื้นฐานแล้ว แต่ราคาหุ้นไม่สมดุล นักลงทุนบางท่านบอกว่าต่ำไป ผมเองก็คิดเหมือนกันเพราะซื้อหุ้นไปก่อนหน้านี้ต้นทุนราคา 1.20 บาท ถ้ามองดีๆก็คือโอกาสนั่นเอง"

*DW อิงหุ้น SUPER เตือนนักลงทุนระวัง

สำหรับกระแสเก็งกำไรใน DW ของ SUPER มีความเสี่ยงสูง นายจอมทรัพย์ ยอมรับว่า โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบ แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะ DW เป็นสินค้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯคิดขึ้นมา ผู้ลงทุนที่ไปลงทุนในส่วนนั้นต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงมากกว่าการถือหุ้นปกติ แม้ว่าจะได้กำไรสูงกว่า แต่ถ้าหากหมดอายุก็เหลือศูนย์ได้เช่นกัน โดยส่วนตัวไม่ได้เข้าไปเล่น DW เพราะถือหุ้นหลัก อย่างไรก็ไม่เหลือศูนย์

*ปีนี้ SUPER ลุ้นโตเด่น บุ๊กกำไรจ่ายไฟฟ้าเพิ่มกำลังผลิตทะลุ 1,000 MW

ความคืบหน้าแผนขยายกิจการพลังงานทดแทน SUPER ในวันนี้ ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้หลัก 95% มาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนอีก 5% มาจากโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของบริษัท ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 3 โครงการรวมกำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ ในปีนี้จะเริ่ม COD อีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ส่วนต่างประเทศบริษัทเข้าไปขยายกิจการในเวียดนาม ปัจจุบันก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5 โครงการ กำลังการผลิต 236.72 เมกะวัตต์ ถ้าเทียบกับกำลังการผลิตที่มีปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นอีก 30% คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 3/62 ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในมือสิ้นปีนี้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์

"ปี 2562 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับ SUPER ปีนี้จะ COD โรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม 1 แห่ง กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ หากเปรียบเทียบรายได้ของโรงไฟฟ้าขยะเพียงแห่งเดียว เท่ากับรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สัดส่วน 6-7% ของรายได้รวม เนื่องจากมีการจ่ายไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง เบื้องต้นคาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะสามารถรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าขยะครบถ้วน"

*มองโอกาสขยายกิจการเพิ่มใน กัมพูชา,มาเลเซีย ,เมียนมา ,และไต้หวัน

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ปัจจุบันอยู่ช่วงเจรจาและศึกษาก่อสร้างกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์จะเริ่มเฟสแรกในเวียดนามจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้กำลังการผลิต 172 เมกะวัตต์ และสามารถ COD ได้ช่วงปลายปี 2563 ก่อนจะขยายต่อเนื่องให้ได้ตามเป้า 1,000 เมกะวัตต์เชื่อว่าจะใช้เวลา 4-5 ปีในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด โดยโรงไฟฟ้าพลังงานลมต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้เวลาสร้าง 4-6 เดือน แต่โรงไฟฟ้าพลังงานลมต้องใช้เวลา 18-24 เดือน นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสขยายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปประเทศอื่น เช่น กัมพูชา,มาเลเซีย ,เมียนมา ,และไต้หวัน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม คงดำเนินการในเวียดนามให้ได้ตามแผน

*เป้า 5 ปีกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 2,000 MW ระดมทุน SUPEREIF เสร็จภายใน Q2/62

สำหรับแผน 5 ปีข้างหน้า นายจอมทรัพย์ ตั้งเป้าว่าอาณาจักรพลังงานทดแทน SUPER จะต้องขึ้นแตะ 2,000 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่มี 780 เมกะวัตต์ ประกอบกับ บริษัทเพิ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดตั้งและจัดการกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) ตามแผนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/62 เป็นการขายสินทรัพย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 117 เมกะวัตต์ ทำให้มีรายได้เข้ามาใหม่ มีกระแสเงินสดมาลงทุนเพิ่มเติมได้อีก

SUPEREIF บริษัทวางเป้าระดมทุน 8,300 ล้านบาท ส่วนแรก 4,000 ล้านบาทก็จะไปคืนหนี้เดิม ส่วนที่เหลือ 1,000 ล้านบาท จะนำไปลงทุนในกองทุนใน SUPEREIF จะถือสัดส่วน 20% ในส่วนที่เหลือ 3,000 กว่าล้านบาท จะนำไปขยายการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท ถ้าขายสินทรัพย์ไป 117 เมกะวัตต์ เงินที่ได้จากการะดมทุนรอบนี้ต้องมาขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 2-3 เท่า

ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุน 1.6 เท่า ไม่ได้สูงเกินไป ถ้าเทียบกับบริษัทในต่างประเทศที่ทำธุรกิจพลังงานทดแทนมีหนี้สินต่อทุนสูงถึง 7-8 เท่า ซึ่งบริษัทวางแนวทางกับธนาคารที่เป็นพันธมิตรว่าหากขยายกำลังการผลิตจะต้องมีหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า แต่โดยปกติแล้วการลงทุนเกือบทุกโครงการบริษัทจะใช้เงินบริษัทเอง 30% และใช้เงินกู้ 70% ทำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทไม่เกินเป้าหมายอย่างแน่นอน

"บริษัทวางเป้าขึ้นเป็น Regional player หรือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับธนาคารไทยที่เป็นพันธมิตร ที่เข้าไปขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้กันอยู่แล้ว โดยบริษัทมีเป้าหมายเข้าไปขยายพลังงานทดแทน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานลม ,และโรงไฟฟ้าขยะ ปัจจุบัน SUPER มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในไทย ถ้าไม่นับจีนบริษัทก็อยากขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งที่มีกำลังผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด"

https://youtu.be/BdMdtjS7pHE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ