(เพิ่มเติม) BA เปิดชื่อ"ล้อตเต้"พาร์ทเนอร์ร่วมประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ-3 สนามบินภูมิภาค ร่วมลงทุนฝ่ายละ 50%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 7, 2019 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า ล้อตเต้ ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีรายใหญ่จากเกาหลีใต้ ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับ BA ในการประมูลสิทธิบริหารร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค คือ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต โดยจะร่วมทุนฝ่ายละ 50%

โดยในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) BA จะแจ้งชื่อล้อตเต้เป็นพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อนที่จะยื่นซองประมูลในวันที่ 22 พ.ค.และทราบผลผู้ชนะในวันที่ 30 พ.ค. นี้. ส่วนท่าอากาศยานภูมิภาคจะยื่นซองประมูลในวันที่ 3 มิ.ย. และประกาศผลในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทได้เจรจากับกลุ่มทุนหลายรายทั้งจากยุโรป อาทิ เลอกาแดงจากฝรั่งเศส และบริษัทจากไอร์แลนด์ เป็นต้น แต่และสุดท้ายบริษัทเลือกล้อตเต้เป็นพันธมิตรเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี เพราะเป็นบริษัทในเอเชียเหมือนกับ BA จึงเชื่อว่าจะมีแนวทางและวิธีดำเนินการไปในทางเดียวกัน และมีความเข้าใจผู้โดยสารในเอเชียมากกว่าเจ้าอื่น รวมทั้งมีซัพพลายเออร์ต่อเนื่อง ที่สำคัญมีผลงานร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินอินชอน

ทั้งนี้ BA มองว่า ล้อตเต้เป็น Global Brand และเป็นผู้จัดหาติดต่อซัพพลายเออร์ หากความร่วมมือเป็นไปไปได้ด้วยดีก็มีโอกาสที่จะร่วมมือทางธุรกิจในโครงการอื่น ๆ ต่อไป

"เลือก ล้อตดต้า เพราะเขาอยู่ในโซนเดียวกับเรา แนวทาง วิธีการน่าจะไปกันได้ ได้ล้อตเต้ ยกให้เป็นดีลที่ดี"นายพุฒิพงศ์ กล่าว

สำหรับส่วน Pick up Couter คงต้องรอกติกาในปี 63 ที่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะประกาศออกมา ซึ่งบริษัทยินดีพูดคุย และที่ผ่านมาล้อตเต้ก็รอเรื่องนี้มานานแล้ว

นายพุฒิพงศ์. กล่าว กลุ่ม BA และล้อตเต้มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในการประมูลครั้งนี้อย่างเต็มที่แม้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ แต่จะทำให้ได้ดีที่สุด เมื่อลงสนามแล้วต้องไปต่อให้ได้ ท่ามกลางคู่แข่งที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก ทั้งกลุ่มคิงเพาเวอร์, กลุ่มเซ็นทรัลที่จับมือกับ DFS จากสิงคโปร์ และกลุ่ม MINT ที่จับมือกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในสนามบิน

ปัจจุบัน ธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันสูงมาก เพราะรูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไป ดังนั้น ธุรกิจสายการบินไม่ใช่ตัวทำกำไรมากเหมือนแต่ก่อน โดย 3-4 ปีที่ผ่านมากำไรจากธุรกิจสายการบินปรับตัวลดลง ดังนั้น BA จึงเห็นว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีน่าจะเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นดีกว่า ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธุรกิจสายการบินยังคงเป็นรายได้หลักของ BA โดยหรือคิดเป็น 60% ของรายได้รวม นอกนั้นจะมาจากบริการครัวการบิน บริการภาคพื้นดิน คลังสินค้า และการบริหารสนามบิน อาทิ สนามบินสมุย และสนามบินสุโขทัย

ส่วนการเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาทนั้น บริษัทได้เข้าร่วมประมูลในนามกลุ่ม BBS Joint Venter ที่มีผู้บริหารสนามบินนาริตะเป็นผู้บริหารสนามบิน. ขณะที่รายอื่นก็มีสนามบินต่างประเทศเข้ามาร่วมประมูล อาทิ กลุ่มบริษัทธนโฮลดิ้งและพันธมิตร มีผู้บริหารสนามบินแฟรงเฟิร์ต ส่วนกลุ่ม Grand Consortium ร่วมกับ GMR ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินในมุมไบและนิวเดลีในอินเดีย

"เราเชื่อว่า ด้านเทคนิคมีความสามารถพอกัน ไม่น่าหนีกัน แต่เรื่องผลตอบแทนให้รัฐจะเป็นตัวตัดสินและเราเชื่อว่ากลุ่มเราน่าให้ผลตอบแทนรัฐดีที่สุด"นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ การประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)

2. กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บมจ.พร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด

3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท Orient Success International Limited บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ. ช.การช่าง (CK) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM)

*ปรับเป้ารายได้ปีนี้โต 3%

นายพุฒิพงศ์ คาดว่า รายได้ของ BA ในปีนี้จะเติบโต 3% ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 3.5% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในช่วงต้นปีนี้ธุรกิจสายการบินชะลอตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ในเดือน เม.ย.62 กระเตื้องขึ้นบ้าง ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3% เป็น 6.1 ล้านคนเช่นกัน จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 5.8 ล้านคน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA กล่าวว่า ธุรกิจสายการบินของบริษัทขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ค่อยแข็งแรง โดยเฉพาะในอังกฤษมีความกังวลเรื่องการแยกตัวของจากสหภาพยุโรป (BREXIT) และจีน ที่เศรษฐกิจปรับตัวลดลงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อย่างไรก็ดีตลาดในแถบอินโดจีนยังดีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ BA มีสัดส่วนตลาดยุโรป 26-27% เอเชียแปซิฟิก 25-27% หรือสัดส่วนตลาดต่างประเทศ 70% ที่เหลือเป็นในประเทศ

ในปีนี้ตลาดในเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นจุดหมายปลายทางที่มาแรง โดย BA จะเพิ่มความถี่ไปที่เวียดนาม ได้แก่ เกาะฟูก๊วก แต่ยังไม่มีแผนเพิ่มจุดหมายปลายทางใหม่

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางไปนครราชสีมาที่จะใช้สนามบินของทหารกลางเมือง จะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นกว่าสนามบินของกรมท่าอากาศยานที่อยู่นอกเมือง คาดว่าอีก 1 เดือนน่าจะได้ข้อสรุป นอกจากนี้เตรียมศึกษาจุดบินใหม่ที่เบตงที่สนามบินใกล้ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่เนื่องจากเป็นสนามบินขนาดเล็กคงมีเพียงสายการบินนกแอร์ และบางกอกแอร์เวยส์ที่มีเครื่องบินใบพัด ATR ทำการบินในเส้นทางดังกล่าวได้

นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าสนามบินที่พังงาว่า เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีสนามบินใหม่รองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวในจังหวัดพังงาและภูเก็ต โดยสถานที่ที่บริษัทจะดำเนินการอยู่ที่คลองพร้าวใกล้ตะกั่วป่า ขณะนี้กำลังจัดทำประชาพิจารณ์ ส่วนกรณีที่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เตรียมสร้างสนามบินใหม่ที่โคกกลอยใน จ.พังงาเช่นกันนั้น เห็นว่าควรเกิดสนามบินเพียงแห่งเดียวในพังงา ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ