GGC คาดกำไรผ่านจุดต่ำสุดของปีใน Q1/62, เช่าโรงกลั่น RPC ผลิตวัตถุดิบป้อนรง.มีลุ้นซื้อในอนาคต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2019 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 1/62 ที่ทำได้ 22 ล้านบาทจะเป็นระดับต่ำสุดในรอบปีนี้ หลังจากนี้กำไรสุทธิน่าจะปรับตัวขึ้นจากปริมาณขายและราคาขายไบโอดีเซล (B100) ที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนการภาครัฐในการใช้น้ำมัน B10 และ B20 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสม B100 ในสัดส่วน 10% และ 20% ตามลำดับ ที่ปัจจุบันเริ่มเห็นยอดการใช้ B20 เพิ่มขึ้นมากต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายในปีนี้คาดว่าจะลดลงจากระดับ 1.62 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ว่าปริมาณการขาย B100 จะเพิ่มขึ้นจากการเดินเครื่องโรงงานแห่งที่ 2 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่จะหยุดซ่อมบำรุงโรงงานใหญ่รอบ 5 ปีของโรงงานแห่งแรกเป็นเวลา 20 วันในกลางปีนี้ ทำให้คาดว่าปริมาณขายทั้งปี 62 จะอยู่ที่ 4 แสนตัน สูงกว่าระดับ 3.7 แสนตันในปีที่แล้ว แต่ราคา B100 ที่ลดต่ำลงมากในช่วงไตรมาสแรก ตามทิศทางของราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ก็เป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ของบริษัท

"ราคาช่วงไตรมาส 1-2 แย่ เป็น worst case ที่สุดตั้งแต่มีปาล์มมา Q1 ผลประกอบการไม่ดีกำไรทำได้แค่ 22 ล้านบาท ตั้งแต่ Q2 ปลาย ๆ น่าจะดี รัฐบาลประกาศการใช้ B10 และ B20 ช่วงต้นพฤษภาคม จึงยังไม่ได้กระตุ้นมาก คงจะกระตุ้นได้ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้"นายเสกสรร กล่าว

นายเสกสรร กล่าวว่า บริษัททำประมาณการราคา CPO ในปีนี้ที่ 20 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่ราคาปรับตัวลดลงมา 15-16 บาท/กก. และทำจุดต่ำสุดที่ 13-14 บาท/กก.จากสต็อกที่มีอยู่มาก โดยราคา CPO ที่ลดลงก็ทำให้ราคา B100 ปรับลดลงด้วย แต่จากการส่งเสริมการใช้ B10 และ B20 และการนำ CPO มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าก็ทำให้เริ่มเห็นราคาขยับขึ้นมาด้วย และคาดหวังจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้

ทั้งนี้ หากความต้องการใช้ B100 ในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ก็อาจจะทำให้บริษัทลดการส่งออกลงจากเป้าหมายส่งออก B100 ในปีนี้ที่ 15,000 ตัน โดยได้ส่งออกไปแล้ว 2,500 ตันไปยุโรป และเตรียมจะส่งออกไปจีน 4,300 ตันในต้นมิ.ย.นี้ รวมถึงอาจทำให้ภาพรวมปริมาณขายของบริษัทในปีนี้สูงกว่าเป้าหมายด้วย โดยหากทิศทางราคาและมาร์จิ้นดีขึ้นกว่าการส่งออกบริษัทก็จะยุติการส่งออกไปเลย

สำหรับสเปก B100 ของบริษัทนับว่ามีคุณภาพเหมาะสมสามารถส่งออกได้ และยังสามารถผลิตได้ตามที่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) ต้องการให้มีปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ ต่ำกว่า 0.4% โดยน้ำหนัก เพื่อให้ B100 มีความบริสุทธิ์มากขึ้นในการผสมในน้ำมันดีเซล รองรับการใช้ B10 และ B20 ในรถบรรทุกขนาดเล็ก โดยโรงงานแห่งที่ 2 ของบริษัทสามารถผลิต B100 ที่มีโมโนกลีเซอร์ไรด์ ในระดับ 0.25% ส่วนโรงงานแห่งที่ 1 สามารถปรับการผลิตได้ตามสเปกของ JAMA แต่อาจจะทำให้ได้ผลผลิต B100 ลดลง

นายเสกสรร กล่าวอีกว่า บริษัทเช่าพื้นที่โรงกลั่นคอนเดนเสทของ บมจ.อาร์พีซีจี (RPC) เพื่อนำ CPO มากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (Refined Palm Oil:RPO) เพื่อใช้ในการผลิต B100 จากเดิมที่จะรับซื้อจากผู้ผลิต RPO ทั้ง 100% เพื่อป้อนโรงงานแห่งแรก แต่หลังจากที่บริษัทประสบปัญหาเรื่องสต็อกวัตถุดิบหายเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการเช่าโรงกลั่นของ RPC เพื่อผลิต RPO เองในสัดส่วน 30% ส่วนที่เหลือ 70% เป็นการซื้อจากภายนอก ขณะที่โรงงานแห่งที่ 2 ของบริษัทสามารถผลิต RPO เพื่อผลิตเป็น B100 ได้ด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน บริษัททำสัญญาเช่าโรงกลั่นของ RPC ในรูปแบบสัญญาปีต่อปี นับตั้งแต่มีปัญหาเรื่องสต็อกวัตถุดิบหายเมื่อกลางปีที่แล้ว และขณะนี้ได้ต่อสัญญาไปจนถึงปี 63 แล้ว อย่างไรก็ตามก็มีโอกาสที่จะซื้อพื้นที่ของโรงกลั่น RPC ที่มีพื้นที่ 20-30 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองในอนาคต เพื่อรองรับการขยายลงทุน เพราะปัจจุบันหาพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อสร้างโรงงานได้ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะขยายการผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์เพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตเครื่องสำอาง สารลดแรงตึงผิว ซึ่งมีมาร์จิ้นดี ประกอบกับบริษัทมีการผลิตเต็มที่ถึง 120% ก็มีโอกาสที่จะขยายเพิ่มเติม แต่ต้องดูถึงความต้องการใช้ด้วย เพราะปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี มองว่าอาจจะทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจดูแลสุขอนามัยของตัวเองลดลง ทำให้การใช้ครีมบำรุงผิวหรือบำรุงผมลดลงด้วย

"โรงงานเขาเป็นโรงงานเก่าเราก็เข้าไปดูแลและค่อย ๆ ปรับปรุง สัญญาเป็นปีต่อปี แต่เราพยายามคุยเรื่องค่าเช่าถ้าได้ราคาที่ดีเราก็ต่อไปเรื่อย ๆ แต่วันนี้โรงกลั่นจาก CPO เป็น RPO มีเพิ่มมาเรื่อย ๆ และเขา offer ดีลดีๆ มาให้เรา ถ้าเราหาซื้อได้ราคาถูกก็คงอาจไม่ต้องเช่า ส่วนการซื้อขาดค่อนข้างยากเพราะโรงค่อนข้างเก่า ถ้ามองประโยชน์ก็อาจจะซื้อมาแล้วสร้างเป็นโรงอื่นบนพื้นที่เขามากกว่า เราก็ดูพิจารณาหลายๆอย่างประกอบ...จนถึงวันหนึ่งที่ดินในมาบตาพุดไม่ค่อยจะเหลือแล้ว ถ้าเราจะขยายสักโรงงานในส่วนของเราแฟตตี้แอลกอฮอล์มีมาร์จิ้นค่อนข้างดีเราอาจจะขยายตรงนี้ก็ได้"นายเสกสรร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ