MITSIB พร้อมเทรด mai 11 มิ.ย.หลังกองทุน MFC เข้าซื้อหุ้น IPO เสริมความมั่นใจ,เล็งขยายพิโกไฟแนนซ์-จำนำทะเบียนรถ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 7, 2019 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัชชา ยงค์สงวนชัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มิตรสิบ ลิสซิ่ง (MITSIB) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าหุ้น MITSIB ที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 11 มิ.ย.62 จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน หลังจากเมื่อวันที่ 29-31 พ.ค.62 ได้เปิดเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชน (IPO) จำนวน 167 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 2.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท อ้างอิง P/E ย้อนหลังของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 30.40 เท่า

ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจเข้าจองซื้อหุ้นไอพีโอ 167 ล้านหุ้นหมดทั้งจำนวน โดยมีกลุ่มนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวมของ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ให้ความสนใจจองซื้อจำนวน 20 ล้านหุ้น ส่วนจำนวนหุ้นที่เหลือเป็นสัดส่วนของผู้มีอุปการคุณและนักลงทุนทั่วไป

"จากการโรดโชว์กับผู้ลงทุนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเล็งเห็นถึงอัตราการเติบโตธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถแท็กซี่ และการขยายพอร์ตสินเชื่อไปในกลุ่มอื่นๆ ทำให้มีโอกาสผลประกอบการเติบโตได้ดีในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้า สำหรับราคาไอพีโอที่ 2.50 บาท นับว่ามีส่วนลดราว 30% หากเปรียบเทียบกับราคาเหมาะสมที่หลายโบรกเกอร์ประเมินเฉลี่ยที่ 3.50-3.90 บาท นอกจากนั้นหากพิจารณาถึงมูลค่าทางบัญชีบริษัท (P/BV) อยู่ที่ 3 เท่า ถือว่ายังต่ำกว่าบริษัทอื่นในตลาดที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เฉลี่ย 6-8 เท่า

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้มีมติร่วมกันว่าจะไม่นำหุ้นเดิมจำนวน 500 ล้านหุ้นออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ฯมีเงื่อนไขอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี ดังนั้นแม้ว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนในช่วงนี้ แต่มีความมั่นใจว่าหุ้น MITSIB เข้าซื้อขายวันแรกจะสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อได้"นายณัชชา กล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จำนวน 417.50 ล้านบาท บริษัทจะนำไปชำระหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน 60% และอีก 40% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินเฉลี่ย 4-5% ภายหลังเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้วลดต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ส่งผลให้ส่วนต่างกำไรจากดอกเบี้ยดีขึ้น และหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 1 เท่าจากปัจจุบัน 2.75 เท่า ส่วนเงินทุนหมุนเวียนจะนำไปปล่อยสินเชื่อใหม่ในรูปแบบต่างๆ และขยายสาขาใหม่เพิ่มเติม

ส่วนแผนธุรกิจในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมจะเติบโต 20-30% ส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนขยายพอร์ตรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่,รถโดยสารสาธารณะ และรถขนส่งโลจิสติกส์ของเอกชนจะเพิ่มขึ้น 20% จากปัจจุบันที่มีจำนวน 2,900 สัญญา คิดเป็นมูลค่า 1,500-1,600 ล้านบาท และมีเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า(62-65) พอร์ตสินเชื่อดังกล่าวเพิ่มเป็น 5,000 สัญญา ทำให้บริษัทขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจากปัจจุบันอยู่อันดับ 2-3 ของอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ บริษัทมีแนวทางกระจายความเสี่ยง โดยเพิ่มพอร์ตสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าประเภทอื่น ล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการธุรกิจปล่อยสินเชื่อนาโน-พิโกไฟแนนซ์ ใช้กลยุทธ์ไปร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการในโรงงานเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย และขยายธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ข้อมูล ณ สิ้นปี 61 ตลาดมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท มองว่าศักยภาพบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ดีในอนาคต โดยปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 5 แห่ง เน้นพื้นที่ตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด และตามแผนในปี 63-64 ต้องการขยายสาขาเพิ่มเป็น 50 แห่ง เพื่อครอบคลุมให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ

"นอกจากธุรกิจใหม่สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และธุรกิจจำนำทะเบียนรถแล้ว บริษัทมุ่งเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อกระจายไปหลายกลุ่ม โดยกำลังเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนัก ขณะเดียวกัน ยังมุ่งขยายสินเชื่อแฟคตอริ่ง ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เพื่อเข้าไปขยายกลุ่มลูกค้าประเภทนี้ให้มากขึ้น"นายณัชชา กล่าว

ขณะที่แผนควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บริษัทมีความตั้งเป้าควบคุมไม่ให้เกินระดับ 2% ข้อดีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่สาธารณะโอกาสเกิดเป็นหนี้สูญน้อยมาก เพราะบริษัทสามารถติดตามยึดทรัพย์ได้ทุกคัน เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันติด GPS เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความปลอดภัยดังนั้นการติดตามลูกค้าหรือยึดทรัพย์ก็สามารถติดตามได้รวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ