(เพิ่มเติม) AOT คาดผลงานงวดปี 62/63 (สิ้นสุด ก.ย.) โตกว่าปี 61/62 จากรายได้ธุรกิจใหม่-ผู้โดยสารโต 6% รอรบ.ใหม่ไฟเขียวขยายสนามบิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 24, 2019 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าผลประกอบการในงวดปี 62/63 (ต.ค.62-ก.ย.63) จะดีกว่าในงวดปี 61/62 (ต.ค.61-ก.ย.62) เนื่องจากจะมีรายได้ใหม่จากโครงการ Airport City จากที่ดินแปลง 37 ภายในสนามบินสุวรรณภูมิที่มีอยู่ประมาณ 700-800 ไร่ และพื้นที่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิที่มี 500 ไร่ รวมทั้งหมดที่ 1.2 พันไร่ โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยมีรายได้ในไตรมาส 1/62-63 (ต.ค.-ธ.ค.62)

โดยที่ดินแปลง 37 บริษัทได้หารือกับกรมธนารักษ์แล้วซึ่งได้ปลดล็อกระยะเวลาที่ดินซึ่งเดิมจะสิ้นสุดการเช่าพื้นที่ถึงปี 75 ได้ขยายเวลาออกไป 30 ปี หรือหมดอายุเช่าในปี 95 โดยจะมีการปรับอัตราผลตอบแทนทุกๆ 10 ปี ซึ่งในช่วงปี 65-75 ได้ปรับส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) เป็น 5.5%ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 5%ต่อปี พร้อมทั้งได้ปรับไม่ใช้เกณฑ์ส่วนแบ่งรายได้จากทรัพย์สิน (ROA) มาคำนวณรวมในส่วนแบ่งรายได้แทน ส่วนแปลงที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่ง ซึ่งคาดว่าปีนี้จะดำเนินการเสร็จสิ้น ทั้ง

นอกจากนี้ บริษัทจะมีรายได้ใหม่จากโครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) ซึ่งจะจัดตั้งบริษัทย่อย ร่วมกับภาคเอกชนผ่านสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าไทย โดย AOT ถือหุ้นใหญ่ 49% โดยคาดว่าจะมีสินค้าส่งออกจากไทย 1.5 แสนตัน/ปี ซึ่งจะทำให้ AOT รายได้จากการขนส่งสินค้าผ่านโครงการดังกล่าวที่จะสร้างมาตรฐานและกระบวนการส่งออกสินค้าเกษตรแบบเพิ่มมุลค่า และในปีต่อไป AOT จะจัดตั้งช่องทางจัดการสินค้าเกษตรแบบพิเศษ (PPL)

ขณะที่ธุรกิจการบิน (Aero) คาดจำนวนผู้โดยสารเติบโต 6%

ทั้งนี้ ในงวดปี 61/62 (ต.ค.61-ก.ย.62) บริษัทคาดว่าจะมีกำไรก่อนรายการพิเศษ ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท จากงวด 6 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทั้งปีเติบโต 2% จากในช่วง 8 เดือนเติบโต 1.8% ซึ่งยอมรับว่าปีนี้หดตัวลงจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป

"AOT เหมือนยักษ์ใหญ่ แต่มีโซ่ตรวน แต่การเติบโตอยู่ที่การตัดโซ่ตรวน ปีนี้เรื่องที่ดิน และพื้นที่รอบสนามบิน อีกไม่กี่เดือนที่จะถูกปลดปล่อย ครบรอบปีที่ 40 (1 ก.ค.62) AOT จะเป็นยักษ์ที่ไม่มีพันธการ เป็นปีที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก หลังจากที่ประมูลดิวตี้ฟรีแล้ว ช่วงที่เหลือ 3-4 เดือนเราพอใจ new business เข้ามา รูปแบบของ AOT จะเปลี่ยนไปตลอดกาล รูปแบบนี้จะอยุ่กับ AOT เป็นการถาวร Non-Aero มีโอกาสปรับขึ้นสูง" นายนิตินัยกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่างวดปี 63/64 รายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Aero) น่าจะปรับสัดส่วนขึ้นมา 50% ส่วนธุรกิจการบินมาที่ 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ 43:57

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ในฝั่งธุรกิจการบิน ก็ยังมีโอกาสเติบโต จากที่มีโครงการพัฒนาสนามบินต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการ 4.2-4.3 หมื่นล้านบาท ที่ชะลอจากปีที่แล้ว จากการมีการปรับปรุงแบบใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการผู้ใช้สนามบินหรือคณะกรรมการ Airport consultative Committee (ACC) ที่ต้องการเพิ่มมีระบบขนส่ง ผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)และสานพานลำเลียงกระเป๋าเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 รวมทั้งส่วนต่อขยายด้านตะวันตก (West Wing) ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว รอการพิจารณาจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์

ขณะที่โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ได้ส่งกลับมาแล้วคาดจะเสนอร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลงานก่อสร้างต่อคณะกรรมการบริษัท ในเดือน ก.ค.นี้ โดยได้ดำเนินการคู่ขนานในการขออนุมัติรายงานการจัดทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งตั้งเป้าเริ่มใช้งานในปี 64 นอกจากนี้มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องก็ยังอยู่ที่กระทรวงคมนาคมเช่นกัน

โดยตั้งเป้าในปี 65 จะเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่สามารรองรับผู้โดยสารอีก 40 ล้านคน โดยแผนงานในปี 68 AOT คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 185 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 100 ล้านคน ใน 6 สนามบินที่บริษัทบริหาร ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่

สำหรับท่าอากาศยานดอนเมือง จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67

ส่วนที่ท่าอากาศยานภูเก็ต อยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 10.5 ล้านคน และก่อสร้างลานจอดรถอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65

นายนิตินัย กล่าวว่า AOT ยังมีการบริหารสนามบินภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 4 แห่งที่จะได้รับมอบจากกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ตาก ชุมพร อุดรธานี และสกลนคร รวมทั้งการลงทุนท่าอากาศยานเชียงใหม่ 2 (ตั้งอยู่จ.ลำพูน) และท่าอากาศยานภูเก็ต 2 (ตั้งอยู่จ.พังงา) เรื่องอยู่ที่กระทรวงคมนาคม ทั้งนี้คาดว่า ทั้ง 4 โครงการที่อยุ่ขั้นตอนกระทรวงคมนาคม คาดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะมีการสานต่อ และสามารถเดินหน้าไปได้

AOT ได้นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการอำนวยความสะดวก โดยได้พัฒนาเทคโนโลยี และนำมาบรูณาการสู่โลกเสมือนจริงในโครงการ Digital Platform เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์ในรูปแบบ Application บนสมาร์ทโฟน แท็บแลต เพื่อบริหารจัดการท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังมีความร่วมมือจากท่าอากาศยานที่ร่วมโครงการข้อตกลงความร่วมมือระหว่งท่าอากาศยานกับ AOT (Sister Airport) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดตัว Application และเปิดให้ผู้โดยสารดาน์โหลดมาใช้บริการได้ในเดือน 1 ส.ค.62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ